น่าน เป็นจังหวัดชายแดนภาคเหนือ และเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่รุ่นเดียวกับกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18 “พญาภูคา” ได้สร้างขึ้นในบริเวณที่ราบทางตอนบนเขตตำบลศิลาเพชร หรืออำเภอปัวในปัจจุบัน ซึ่งมีชื่อเดิมว่า นันทบุรี หรือวรนคร ต่อมาเจ้าเมืองน่านได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 7 องค์ มาจากกรุงสุโขทัย จึงหาสถานที่ที่เหมาะสมในการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้เลือกดอยภูเพียงแช่แห้งและย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยต่อมาประมาณ ปี พ.ศ. 1911 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทางเดิน จึงได้ย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งมาตั้งที่บ้านห้วยไค้ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองน่านในปัจจุบัน
               น่านอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 668 กิโลเมตร  มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
                 ทิศเหนือ จดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศตะวันออก
                 ทิศใตจดจังหวัดอุตรดิตถ์
                 ทิศตะวันตก จดจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย

           
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

อำเภอเวียงสา 25 กิโลเมตร
อำเภอแม่จริม 38 กิโลเมตร
อำเภอบ้านหลวง 45 กิโลเมตร
อำเภอปัว 60 กิโลเมตร
อำเภอนาหมื่น 80 กิโลเมตร
อำเภอบ่อเกลือ 133 กิโลเมตร
อำเภอสันติสุข 32 กิโลเมตร
อำเภอท่าวังผา 41 กิโลเมตร
อำเภอนาน้อย 60 กิโลเมตร
อำเภอเชียงกลาง 76 กิโลเมตร
อำเภอทุ่งช้าง 86 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอสองแคว 75 กิโลเมตร


        ระยะทางทางจากจังหวัดน่านไปยังจังหวัดใกล้เคียง
               
     จังหวัดพะเยา 176 กิโลเมตร
                    จังหวัดเชียงราย 270 กิโลเมตร
                    จังหวัดเชียงใหม่ 318 กิโลเมตร
                    จังหวัดแพร่ 118 กิโลเมตร
                    อำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) 142 กิโลเมตร

การเดินทาง
ทางรถยนต์ ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้เส้นทาง 117 มาจนถึงจังหวัดพิษณุโลก และจากจังหวัดพิษณุโลกให้ใช้เส้นทางหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง ทางรถโดยสาร สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดน่านทุกวัน วันละหลายเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 936-3660, 936-3666 ส่วนรถโดยสารของบริษัทเอกชนติดต่อได้ที่บริษัทแพร่ทัวร์ โทร. 245-2369, 245-1679 และบริษัทถาวรฟาร์ม โทร. 282-3341-5
ทางรถไฟ ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากอำเภอเด่นชัยสามารถต่อรถโดยสารประจำทางมาลงที่จังหวัดน่านได้
ทางเครื่องบิน ทางเครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด มีเที่ยวบินไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ-น่าน ติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด กรุงเทพฯ โทร. 280-0060, 628-2000 และที่จังหวัดน่าน โทร. (054) 710377, 710498 (ท่าอากาศยานน่าน โทร. 771-729)
สถานที่ท่องเที่ยว

      เขตตัวเมือง

       วัดพญาวัด ตั้งอยู่ที่บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 101 ก่อนถึงตัวเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข 1025 เข้าไปประมาณ 300 เมตร วัดพญาวัดนับเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และสำคัญของจังหวัดน่านแห่งหนึ่ง มี เจดีย์จามเทวี หรือ พระธาตุวัดพญาวัด ซึ่งเป็นศิลปะผสมระหว่างล้านนา-ล้านช้างและศิลปะน่านและพระพุทธรูปพระเจ้าสายฝน ประดิษ ฐานอยู่ภายในพระวิหาร ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและมาขอฝนเมื่อเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล

          วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ที่ตำบลไชยสถาน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 สันนิษฐานว่ามีอายุใกล้เคียงกับพระธาตุแช่แห้ง จากบนยอดเขาจะมองเห็นทิวทัศน์ด้านล่างและวัดพระธาตุแช่แห้งได้อย่างชัดเจน

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ภายในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า “หอคำ” โดยเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อ พ.ศ. 2446 ลักษณะตัวอาคารโอ่โถงงดงามก่ออิฐถือปูนแข็งแรง แต่ตกแต่งให้อ่อนช้อยสวยงามด้วยลายลูกไม้ นับเป็นสถาปัตยกรรมก่อสร้างที่ดีเด่นแห่งหนึ่งของเมืองไทย นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย กรมศิลปากรได้รับมอบอาคารหอคำเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านเมื่อปี พ.ศ.2517 แล้วจึงนำโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่นมาจัดแสดงให้ชมอย่างมีระบบและระเบียบสวยงาม คือ ส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนาเช่น ลักษณะอาคารบ้านเรือนและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ ที่สวยงามมาก การสาธิตงานประเพณีและความเชื่อต่างๆ เช่น การแข่งเรือจุดบ้องไฟสงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น ที่น่าสนใจในการจัดแสดงห้องโถงข้างล่างนี้ ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน รวม 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทยลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น และผีตองเหลือง ส่วนบริเวณห้องจัดแสดงชั้นบน เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมืองและโบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยชามที่ค้นพบในเมืองน่านที่สำคัญที่สุดได้แก่ ห้องเก็บ “งาช้างดำ” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน ตามประวัติกล่าวว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมกับหอคำ ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ขนาดความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก ประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนปลายมนมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยกำกับไว้ว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กิโลกรัม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านเปิดให้ประชาชน และนัก-ท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยเสียค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทยคนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 054-710561

           วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง หลักฐานตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ที่ค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวง เมื่อ พ.ศ. 2091 วัดนี้มีเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์มีรูปช้างโผล่ออกมาครึ่งตัว นอกจากนั้นวัดช้างค้ำยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลาชื่อ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65% สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬี ทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2524 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ภูคา เป็นผู้สร้างเมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาส

          วัดภูมินทร์ อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เป็นวัดที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่นๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักลวดลายงดงามโดยฝีมือช่างล้านนาไทย นอกจากนี้ ฝาผนังภายในวิหารยังมีจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงชีวิต และวัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมา ตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่า เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตร พรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ดังกล่าว ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ก็คือ เป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุขพระประธานจตุรพักตร์ นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค พระอุโบสถจตุรมุขนี้ กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ตรงใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องพระปฤษฎางค์ชนกันประทับนั่งบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผู้ที่ไปชมความงามของพระอุโบสถนี้ไม่ว่าจะเดินขึ้นบันไดทิศไหน ก็จะพบพระพักตร์พระพุทธรูปทุกด้านไป วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2410 หลังจากที่สร้างมาได้ 271 ปี โดยพระเจ้า อนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน โปรดให้ซ่อมแซมเป็นครั้งใหญ่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2418 ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 9 ปี กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังคงจะวาดในสมัยที่ซ่อมแซมครั้งใหญ่นี้ สำหรับช่างผู้วาดนั้นไม่ปรากฏประวัติ ทราบแต่ว่าเป็นศิลปะกรรมแบบชาวไทยลื้อ งานจิตรกรรมฝาผนัง แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ แสดงเรื่องชาดกวิถี ชีวิตตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ได้แก่ การแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อไปทั่วประเทศ นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บานประตูแกะสลักทั้งสี่ทิศแกะสลักลึกเป็น 3 ชั้น บนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ความหนาของไม้ประมาณ 4 นิ้ว สลักเป็นลวดลายเครือเถาที่มีทั้งดอกและผลระย้าย้อย รวมทั้งสัตว์นานาชนิดน่าชมอย่างยิ่ง

           วัดสวนตาล ตั้งอยู่ที่ตำบลในเวียง สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อ พ.ศ.1770 เจดีย์มีสัญฐานงดงาม ชั้นล่างมีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ ภายในวัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าดิโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1993 ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ปางมารวิชัยประดิษฐานในวิหารสวนตาล หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน

           พระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามเส้นทางสายน่าน-แม่จริม หรือทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของจังหวัดน่าน มีอายุราว 600 ปี ประดิษฐานอยู่ที่วัดแช่แห้งตามพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่างปี พ.ศ. 1897-1901 ปัจจุบันองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 22.5 เมตร สูง 55.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหรือทองจังโก ลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์ พระบรมธาตุแช่แห้งเป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน ที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก ทั้งประชาชนในตัวเมืองและจังหวัดใกล้เคียง และได้จัดให้มีงานนมัสการพระบรมธาตุเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 6 ทางเหนือ โดยนับทางจันทรคติ ซึ่งจะอยู่ในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือ ประมาณเดือนมีนาคมทุกปี

           วนอุทยานถ้ำผาตูบ อยู่ที่ตำบลผาสิงห์ ห่างจากที่ตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง ตรงหลักกิโลเมตรที่ 9-10 การเดินทางมีความสะดวกทุกฤดูกาล ถ้ำผาตูบนี้ประกอบด้วยถ้ำหลายถ้ำในภูเขาหินหลายลูก แต่มีถ้ำสำคัญที่ควรชมอยู่ 2 ถ้ำ คือ ถ้ำพระ และถ้ำบ่อน้ำทิพย์ นอกจากนี้ยังมีหินงอก หินย้อย พันธุ์ไม้ต่างๆ และชะง่อนผา เหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานถ้ำผาตูบ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2521 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 528 ไร่


          สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาน้อย

           อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ประมาณ 934 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล 3 อำเภอ คือ ตำบลส้าน และตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา ตำบลศรีสะเกษ ตำบลเชียงทอง และตำบลสถาน อำเภอนาน้อย ตำบลบ่อแก้ว และตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ ผาชู้ หรือ ผาเชิดชู อยู่ห่างจากตัวอำเภอนาน้อย 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายนาน้อย-ปางไฮ เส้นทางหลวงหมายเลข 1083 ตามประวัติเล่าว่า ได้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเกิดรักกัน โดยที่ครอบครัวของฝ่ายหญิงมีฐานะดีกว่าฝ่ายชายจึงถูกกีดกันจากทางญาติของผู้ใหญ่ ด้วยความรักกัน ฝ่ายหญิงจึงมา ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน แล้วได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายที่หน้าผาตรงนั้น เมื่อฝ่ายชายทราบเรื่องจึงตามมาที่หน้าผาแห่งนี้ และได้พบศพของหญิงสาว จึงเสียใจและกระโดดหน้าผาตายตามกัน หน้าผาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาชู้” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา “ผาเชิดชู” ได้มีการติดตั้งเสาธงชาติไว้ ณ ยอดผา และมีเชือกชักธงชาติอยู่เบื้องล่างของหน้าผา นับเป็นสายธงชาติที่ยาวที่สุดในโลก ที่บริเวณผาเชิดชู มีบ้านพักรับรองสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะค้างคืนนักท่องเที่ยวต้องเตรียมอาหารไปเอง รายละเอียดติดต่อได้ที่ศูนย์พัฒนาต้นน้ำห้วยสามสบ ตำบลศรีสะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150 และที่หน่วยพัฒนาปรับปรุงต้นน้ำ (เขาน้อย) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 57000 อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดสอบถามได้ที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150 หรือที่ อุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 579-5734

          เสาดินนาน้อย หรือฮ่อมจ๊อม อยู่ที่ตำบลเชียงของ จากอำเภอนาน้อย มีทางแยกไปตามเส้นทางหมายเลข 1083 ประมาณ 10 กิโลเมตร ฮ่อมจ๊อม มีลักษณะเป็นเนินดิน ซึ่งถูกกัดเซาะจนสึกกร่อน มีลักษณะแปลกตาคล้ายกับ “แพะเมืองผี” ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่ธรรมชาติสร้างขึ้นอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ปรากฏแท่งดินผสมหินลูกรังรูปร่างคล้ายเจดีย์ และปราสาท หรือจินตนาการอื่นๆ อยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง


          สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาหมื่น

          บ้านปากนาย ห่างจากตัวจังหวัด 96 กิโลเมตร ใช้เส้นทางน่าน-เวียงสา-นาน้อย จากอำเภอนาน้อย จะมีทางแยกไปถึงอำเภอนาหมื่นราว 20 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นทางลูกรังคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 22 กิโลเมตร จึงถึงบ้านปากนาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงริมทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามโอบบริเวณด้วยทิวเขาเขียวขจีโดยรอบ มีเรือนแพ ซึ่งเปิดเป็นร้านอาหาร และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จากบ้านปากนายสามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง มีปลาน้ำจืด เช่น ปลาบู่ ปลาเทโพ และปลาสวาย เป็นต้น



       สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านหลวง

          ดอยผาจิ การเดินทางจากน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 1091 เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอบ้านหลวงให้ใช้เส้นทางสาย 1172 บ้านปี้เหมือนสู่ดอยผาจิ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ดอยผาจิ เป็นดอยที่มีความสวยงาม มีธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ทั้งน้ำตก ต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นเขตพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งฐานกำลังของฝ่ายตรงข้าม ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ท่อประปา อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง-เย้าเรียงรายอยู่


        สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าวังผา

       หมู่บ้านไทยลื้อหนองบัว อยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา จากตัวเมืองน่าน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1080 เป็นระยะทาง 41 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอท่าวังผามีทางแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้าพื้นเมืองประจำเผ่าที่สวยงาม ที่เรียกว่า “ผ้า ลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน นับเป็นหัตถกรรมที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย สิ่งที่เป็นหลักฐานเด่นชัดก็คือ ตามใต้ถุนบ้านที่ยกพื้นสูงจะมีเครื่องทอผ้าสำหรับไว้ใช้เอง ส่วนที่เหลือจะนำออกจำหน่ายเป็นสินค้าพื้นเมือง เช่น ผ้านุ่ง ผ้าพันคอ กระโปรง เสื้อ เป็นต้น

           วัดหนองบัว ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองบัว เป็นวัดที่สร้างด้วยฝีมือช่างไทยลื้อ ซึ่งได้โยกย้ายถิ่นฐานมาจากแคว้นสิบสองปันนา ตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ภายในวิหารวัดหนองบัวมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม มีเอกลักษณ์ซึ่งแตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ ตามประวัติกล่าวว่าภาพเหล่านี้เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือชาวไทยลื้อเมืองน่าน ที่มีคุณค่าทางศิลปและความสมบูรณ์ของภาพ ใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ในเมืองน่าน

 NEXT