สถานที่ท่องเที่ยว (ต่อ)

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านกรวด

           แหล่งหินตัด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด บริเวณเขากลอยและเขากระเจียว การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 ต่อด้วยทางสายประโคนชัย-บ้านกรวด ทางหลวงหมายเลข 2075 เดินทางตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด บริเวณเขากลอยและเขากระเจียว การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 ต่อด้วยทางสายประโคนชัย-บ้านกรวด ทางหลวงหมายเลข 2075 เดินทางเลยบ้านกรวดไปทางละหานทราย 6 กิโลเมตร มีแยกซ้ายเข้าแหล่งหินตัดอีก 2 กิโลเมตร ทางราดยางตลอดสาย แหล่งหินตัดนี้ เป็นแหล่งหินทรายที่คนสมัยขอม ตัดเอาไปสร้างปราสาทต่างๆ ในเขตอีสานใต้ ทั่วบริเวณมีหินทรายก้อนใหญ่น้อยเรียงรายอยู่ทั่วไป บางก้อนยังมีร่องรอยสกัดหินปรากฏอยู่ นอกจากนั้น บริเวณนี้ยังเป็นสถานปฏิบัติธรรมของวัดสวนธรรมศิลา ได้รับการดูแลและปรับปรุงสถานที่ให้สะอาดสวยงาม และมีทางเดินจากแหล่งหินตัดไปยังจุดชมวิวบนยอดเขา  
          แหล่งเต่าโบราณ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 21-22 ทางหลวงหมายเลข 2075 ห่างจากตัวเมือง 66 กิโลเมตร นักโบราณคดีได้สำรวจพบเตาเผา และเครื่องปั้นดินเผาโบราณจำนวนมาก พบว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-19 โดยเตาเผาเหล่านี้ ได้ผลิตเครื่องถ้วยเขมร เพื่อเป็นสินค้าป้อนให้กับเมืองต่างๆ ในกัมพูชา และในภูมิภาคต่างๆ โดยมีการทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โต และขยายขอบเขตการผลิตไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งเตาโบราณ 2 แห่งคือ เตาสวายและเตานายเจียน ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอบ้านกรวดเป็นระยะทาง 5 และ 10 กิโลเมตร ตามลำดับ ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบสามารถชมได้ที่หอศิลปกรรมบ้านกรวด ในบริเวณที่ว่าการอำเภอบ้านกรวด

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปะคำ

          วัดโพธิ์ย้อย ตั้งอยู่ที่บ้านปะคำ หมู่ที่ 1 ตำบลปะคำ จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ใช้เส้นทางหลวงสาย 208 (บุรีรัมย์-นางรอง) ถึงอำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 2118 (นางรอง-ปะคำ) จนถึงทางแยกอำเภอปะคำจากนั้นจึงเลี้ยวซ้าย จะพบวัดโพธิ์ย้อยซึ่งตั้งอยู่ใกล้สี่แยกทางด้านขวามือ     - วัดโพธิ์ย้อย เป็นวัดที่ไม่เก่าแก่นัก จึงไม่ได้ถูกมองและศึกษาในรูปแบบของศิลปะการก่อสร้าง หากแต่มีความสำคัญด้วยมีโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในบริเวณใกล้เคียงเก็บรักษาไว้ ได้แก่ ทับหลัง 5 ชิ้น ใบเสมา 3 แผ่น เสาศิลา 5 หลัก ชิ้นส่วนเสากรอบประตูและฐานศิวลึงค์อย่างละชิ้น สำหรับทับหลังซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระประธาน ด้านขวาสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับในซุ้มเรือนแก้ว แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา กล่าวกันว่าเป็นทับหลังที่เคลื่อนย้ายมาจากประสาทหินบ้านโคกปราสาท หรือที่เรียกว่า ปราสาทบ้านโคกงิ้ว ซึ่งตั้งห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร ทางทิศเหนือ ทับหลังด้านซ้ายสลักเป็นภาพเล่าเรื่องการถวายสตรีให้กับบุคคลผู้มีอำนาจ อาจเป็นกษัตริย์หรือเทพ ภาพบุคคลนั่งเรียงกันภายในซุ้ม มีลายพันธุ์พฤกษาล้อมรอบ และมีปลายทับหลัง 2 ข้าง เป็นภาพมังกรหันหน้าออกคายลายก้านต่อดอก ส่วนทับหลังด้านหลังพระประธาน ด้านขวาสลักเป็นภาพพระอิศวรทรงโคในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล ซึ่งใช้มือทั้งสองยึดจับที่ท่อนพวงมาลัย 2 ข้าง มีลายมาแบ่งที่เสี้ยวเป็นรูปบุคคลนั่งในซุ้มเหนือดอกบัวมีก้านประกอบและทับหลังบนกุฏิอีก 1 ชิ้น สลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเหนือหน้ากาล ซึ่งใช้มือยึดท่อนพวงมาลัย ด้านข้างพระอินทร์เป็นภาพสิงห์ยืน จากลักษณะทางด้านศิลปกรรมของทับหลังเหล่านี้ สามารถกำหนดอายุโดยประมาณได้ว่าอยู่ในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับศิลปะขอมแบบเกลี้ยงและ บาปวน นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น เสาศิลาสลักเป็นรูปโยคีภายในซุ้มและใบเสมา ปักกระจายอยู่รอบอุโบสถ เสมาที่สลักเป็นรูปธรรมจักรอย่างสวยงาม และยังมีชิ้นส่วนของฐานศิวลึงค์ด้วย บริเวณที่ตั้งวัดโพธิ์ย้อยสันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นอาคารที่เรียกกันว่า อโรคยศาล ด้วยฐานอุโบสถไม้ตั้งอยู่บนฐานโบราณสถานเก่าก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งอาจจะเป็นฐานปรางค์ ทางด้านหลังอุโบสถมีร่องรอยของสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมและศิลาจารึกที่เรียกว่า จารึกด่านปะคำ ซึ่งเป็นจารึกประจำอโรคยศาล ก็มีการกล่าวถึงในเอกสารของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสว่าได้ไปจากวัดนี้ แต่เรียกชื่อว่าวัดปะคำ วัดโพธิ์ย้อยจึงนับเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพุทไธสง

          พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ พระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรด เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐาน พระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้น โดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหลัดต่างๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก การเดินทางไปวัด จากตลาดพุทไธสง ถึงทางแยกเลี้ยวขวา ใช้เส้นทางที่จะไปพยัคภูมิพิสัย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอห้วยราช

          สวนนก ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ตำบลห้วยราช การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 ประมาณ 15 กิโลเมตร มีทางลูกรังแยกซ้ายไปประมาณ 2 กิโลเมตร เขตสวนนกนี้ ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยตลาดเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด ซึ่งมีทั้งนกท้องถิ่นและนกที่อพยพมาจากประเทศแถบหนาว บริเวณสวนนกมีต้นไม้ ร่มรื่น และมีศาลาริมอ่างเก็บน้ำสำหรับพักผ่อนและชมชีวิตความเป็นอยู่ของนกในบริเวณนี้

  สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาโพธิ์

          ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านนาโพธิ์ ตั้งอยู่ในเขตตัวอำเภอนาโพธิ์ การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-พุทไธสง ทางหลวงหมายเลข 2074 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 202 บริเวณกิโลเมตรที่ 21 มีทางแยกเข้าตัวอำเภอนาโพธิ์ เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร ในบริเวณศูนย์หัตถกรรมแห่งนี้ มีโรงทอผ้าไหม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ วิธีผลิต และลวดลาย รวมทั้งการให้สี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สีจากธรรมชาติ นอกจากนี้ ด้านหน้าศูนย์ยังมีร้านจำหน่ายผ้าไหม ผ้ามัดหมี่คุณภาพดีอีกด้วย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอโนนดินแดง

          อนุสาวรีย์เราสู้ อยู่ที่ตำบลโนนดินแดง ริมทางหลวงสายละหานทราย-ตาพระยา ทางหลวงหมายเลข 3068 ทางด้านซ้ายมือสร้างขึ้นเมื่อปี 2522 เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย และได้รับพระราชทานนาม “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์แห่งนี้                            
          เขื่อนลำนางรอง อยู่ในเขตบ้านโนนดินแดง ห่างจากอนุสาวรีย์เราสู้ประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนถึงอนุสาวรีย์จะพบทางแยกเข้าไปทางซ้าย เป็นลักษณะเขื่อนดินฐานคอนกรีต มีถนนราดยางบนสันเขื่อนเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านตัวอย่างหมู่บ้านพัฒนาหนองตาเยาว์และหนองหว้า ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดน ประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น ที่สันเขื่อนมีหินลอย (หินภูเขาไฟอีกชนิดหนึ่ง) เป็นก้อนและแผ่น สีสันแบ่งกันเป็นชั้นๆ สวยงาม ซึ่งได้นำออกไปกองไว้กันน้ำเซาะสันเขื่อน และใกล้กับเขื่อนลำนางรองนี้มีเขื่อนคลองมะนาวซึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็สวยงามสงบเงียบ ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนของชาวบุรีรัมย์อีกแห่งหนึ่ง  
          ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ที่บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง การเดินทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงสาย 219 ถึงอำเภอประโคนชัย จากสี่แยกตรงไปตามทางหลวงสาย 2075 จนถึงนิคมบ้านกรวด เลี้ยวขวาเข้าทางสาย 2121 จนถึงอำเภอละหานทรายเลี้ยวซ้ายเข้าทางสาย 3068 ผ่านสี่แยกปะคำ ตรงต่อไปถึงบ้านโนนดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าเขื่อนลำนางรอง ตัวปราสาทอยู่ทางด้านซ้ายของแนวสันเขื่อน และห่างจากเขื่อนประมาณ 300 เมตร ตัวปราสาทเป็นปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐ ตั้งบนฐานก่อด้วยศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก ปรางค์ทั้งสามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง องค์กลางขนาดใหญ่กว่าสององค์ที่ขนาบข้าง แต่เดิมเคยมีทับหลังประดับจำหลักลายอย่างสวยงาม คือ องค์ทิศเหนือสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล ซึ่งมือยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา อีก 2 องค์ที่เหลือ คือ องคืกลางและองค์ด้านทิศใต้ก็มีลักษณะคล้ายกันตางกันที่ภาพตรงกลาง คือ ทับหลังปรางค์องค์กลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ องค์ทิศใต้เป็นรูปพระอิศวรทรงโค ด้านหน้าของปรางค์องค์กลาง มีทางเดินยื่นยาวออกไป มีบันไดทางด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง นอกจากนี้ยังมีวิหารหรือบรรณาลัยอีก 1 หลัง ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้ อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบอีกทีหนึ่ง การกำหนดอายุสมัยของปราสาทนั้น จากลักษณะการก่อสร้างและศิลปกรรมที่พบซึ่งตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์

          กู่สวนแตง ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกู่สวนแตงวิทยาคม บ้านดอนหวาย ตำบลดอนหวาย การเดินทางจะใช้เส้นทางบุรีรัมย์-พยัคภูมิพิสัย ทางหลวงหมายเลข 219 ระยะทาง 70 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ทางไปอำเภอประทายอีกประมาณ 40 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าสู่กู่สวนแตงด้านซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร หรือจากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2074 ผ่านอำเภอคูเมือง ไปอำเภอพุทไธสง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ไปอีก 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้ากู่สวนแตงอีก 1.5 กิโลเมตร ลักษณะของกู่สวนแตง สามารถบอกได้ว่าเป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3 ด้านสลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าที่มุขยื่นออกมาเล็กน้อย ตรงหน้าบันเหนือประตูหลอกทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ มีขนาดเล็กกว่า ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้าเช่นกัน ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบสำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่นๆ ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัวยอดปรางค์ กลีบขนุนรูปนาค 6 เศียร อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนดได้จากทับหลังของปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร อยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม (ตอนหนึ่งในวามนาวตาร แสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฏราช ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง

                นอกจากวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ ชาวบุรีรัมย์ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง เช่น เทศกาลเดือน 5 มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำให้ผู้สูงอายุ มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สะบ้า ชักเย่อ ฯลฯ บางท้องถิ่น เช่น อำเภอพุทไธสงจะมีการเซิ้งบั้งไฟ เทศกาลเข้าพรรษามีการประกวดเทียนเข้าพรรษา เทศกาลเดือน 12 มีประเพณีลอยกระทง แล้วยังมีงานประเพณีของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่สืบต่อกันมาอีกหลายงาน เช่น
          งานนมัสการพระเจ้าใหญ่ที่วัดหงษ์ บ้านศีรษะแรด ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะพระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบุรีรัมย์และชาวอีสานทั่วไปเลื่อมใสศรัทธามาก  
          งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่เขากระโดง อำเภอเมือง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เช่นกัน ประชาชนจะไปนมัสการรอบพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตร ตลอดจนเที่ยวงานกันอย่างคับคั่ง  
          งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นงานประจำปีของประชาชนในเขตอำเภอนางรองและอำเภอประโคนชัย จัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ กำหนดเป็นวันขึ้นเขาพนมรุ้ง จัดในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี  
          งานแข่งเรือ เป็นงานประเพณีของชาวอำเภอสตึก จัดแข่งในแม่น้ำมูล มีเรือจากอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดสุรินทร์มาร่วมแข่งขัน จัดขึ้นวันเสาร์ อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน  
          งานมหกรรมว่าวอีสาน และงานขึ้นปล่อยภูเขาไฟกระโดง หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวประมาณช่วงต้นเดือนธันวาคม ประมาณวันที่ 1-2 ธันวาคมของทุกปี จะมีการจัดงานมหกรรมว่าวอีสาน ในงานจะมีการประกวดขบวนแห่ 12 นักษัตร และการประกวดธิดาฟ้าอีสานจากสาวงามทั่วภาคอีสาน
          งานเครื่องเคลือบพันปี จัดขึ้นที่อำเภอบ้านกรวด ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ในอำเภอบ้านกรวด

               ผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่งดงามของพุทไธสง ปลาจ่อมอร่อยที่ประโคนชัย มะพร้าวเผา ขาหมูเลิศรสของนางรอง กุนเชียง และไก่ย่างลำปลายมาศ หัวผักกาดหวานอบน้ำผึ้งขนานแท้ดั้งเดิมของกระสัง และกุ้งอร่อยที่สตึก นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อสินค้าดังกล่าวได้จากร้านต่างๆ ในตัวเมือง เช่น
          ร้านฝ้าย ถนนธานี โทร. 612551
          ร้านฮะหลี ถนนศรีเพชร โทร. 611869
          ร้านเลี่ยงฮวด ถนนศรีเพชร โทร. 611552
          ศูนย์ศิลหัตถกรรมพื้นบ้าน 8 กิโลเมตรจากตัวเมือง ถนนบุรีรัมย์-ประโคนชัย อำเภอเมือง (แกะสลักหินทรายเป็นรูปโบราณวัตถุต่างๆ รับทำตามสั่งเท่านั้น)

               บุรีรัมย์ทรานสปอร์ต ถนนจิระ โทร. 611905
               ต่อเขต ถนนสุนทรเทพ โทร. 611366
               ฝ้าย ถนนธานี โทร. 612551
               ชมรมมัคคุเทศก์ ถนนบุลำดวน โทร. 613613
               เฮงกี่ ถนนสุนทรเทพ โทร. 612318

               สำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ 611449
                ประชาสัมพันธ์บุรีรัมย์ 611957
                โรงพยาบาลบุรีรัมย์ 611262, 611282
               ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ 611221
               สถานีตำรวจจังหวัดบุรีรัมย์ 611234
               สถานีรถไฟบุรีรัมย์ 611202
               สำนักงานขนส่งจังหวัดบุรีรัมย์ 611595, 612534
               อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง 631746
               การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 1   2102-2104 ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000  โทร. (044) 213666-7 โทรสาร 213667   (พื้นที่ความรับผิดชอบ : นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ)

 BACK

  สนับสนุนข้อมูลโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย