น
ราธิวาส เดิมเป็นเพียงหัวเมืองชายแดนภาคใต้ หนึ่งในแปดหัวเมือง อันได้แก่
ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ระแงะ รือมัง จาลอ หรือยาลอ และจะนะ
ประชากรใช้ภาษามลายูพื้นเมืองเป็นภาษาพูด ส่วนภาษาเขียนเป็นภาษาอาหรับดัดแปลง
การอ่านเป็นภาษามลายูและโรมันมาเป็นภาษายาวี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ในขณะนั้น นราธิวาสมีสภาพเป็นเพียงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า บ้านบางนรา
เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางนราใกล้กับทะเล มีการปกครองขึ้นกับเมืองสายบุรี
ครั้นต่อมาถูกโอนมาขึ้นกับเมืองระแงะ พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้รวมหัวเมืองทั้งหมดเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลปัตตานี ในช่วงเวลานั้นทางราชการได้ย้ายศาลาว่าการจากเมืองสายบุรีมาตั้งอยู่ที่บ้านบางนรา
ด้วยเหตุที่ว่าบริเวณที่ตั้งของบ้านบางนรานั้นได้เจริญเป็นชุมชนใหญ่
มีการค้าทั้งทางบกและทางทะเลคึกคักกว่าเมืองสายบุรี ดังนั้น จึงได้ลดฐานะเมืองระแงะและเมืองสายบุรีลงมาขึ้นกับเมืองบางนราแทน
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นนราธิวาส
จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,475.430 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล
ด้านตะวันออกของแหลมมลายู สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาประมาณ
2/3 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่ติดกับบริเวณอ่าวไทยและที่ราบลุ่ม
แม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำสุไหงโก-ลก
จังหวัดนราธิวาสมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน
ช่วงที่ฝนตกมากที่สุด คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม อุณหภูมิโดยเฉลี่ย
27-29 องศาเซลเซียส
ทิศเหนือ จดจังหวัดปัตตานี
ทิศตะวันตก จดจังหวัดยะลา
ทิศตะวันออก จดอ่าวไทย
ทิศใต้ จดประเทศมาเลเซีย
ระยะทางจากจังหวัดนราธิวาสไปยังจังหวัดใกล้เคียง
นราธิวาส - ปัตตานี 92
กิโลเมตร
นราธิวาส - ยะลา 128
กิโลเมตร
นราธิวาส - สงขลา
194 กิโลเมตร
ระยะทางจากตัวจังหวัดไปยังสถานที่ใกล้เคียง
อ. เมือง
- อ. ยี่งอ 12 กิโลเมตร
- อ. ระแงะ 22 กิโลเมตร
- อ. บาเจาะ 28 กิโลเมตร
- อ. ตากไบ 33 กิโลเมตร
- อ. รือเสาะ 47 กิโลเมตร
- อ. สุไหงปาดี 49 กิโลเมตร
- อ. จะแนะ 50 กิโลเมตร
- อ. ศรีสาคร 64 กิโลเมตร
- อ. สุไหงโก-ลก 66 กิโลเมตร
- อ. แว้ง 83 กิโลเมตร
- อ. สุคิริน 103 กิโลเมตร
 |
ทางรถยนต์
อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 1,149 กิโลเมตร จากหาดใหญ่สามารถเดินทางไปจังหวัดนราธิวาสได้โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข
43 (หาดใหญ่-ปัตตานี) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่จังหวัดปัตตานี ไปยังจังหวัดนราธิวาสโดยใช้ทางหลวงหมายเลข
42 (ปัตตานี-นราธิวาส) อีกประมาณ 100 กิโลเมตร |
 |
ทางรถโดยสาร
มีรถโดยสารทั้งธรรมดาและรถปรับอากาศของบริษัทขนส่งจำกัด
บริการระหว่างกรุงเทพฯ-นราธิวาสทุกวัน จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 435-1200,
434-7192 |
 |
ทางรถไฟ
การรถไฟเปิดบริการรถด่วนและรถเร็วทุกวัน
จากกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) ถึงนราธิวาส (สถานีตันหยงมัส) สอบถามรายละเอียดได้ที่
โทร. 223-7010, 223-7020 |
 |
ทางเครื่องบิน
การบินไทยมีเที่ยวบินไปจังหวัดนราธิวาสทุกวัน
สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด กรุงเทพฯ โทร. 280-0060,
628-2000 หรือที่ บริษัท การบินไทย จำกัด จังหวัดนราธิวาส โทร. (073)
511161, 512178 |
สถานที่น่าสนใจ
ในเขตอำเภอเมือง
ชายหาดนราทัศน์ อยู่เลยจากตัวเมืองนราธิวาสไปตามถนนสายพิชิตบำรุง
ประมาณ 2 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถสามล้อ หรือแท็กซี่จากตลาดเทศบาลไปได้
ชายหาดนราทัศน์เป็นชายหาดที่กว้าง ทรายขาวสะอาด มีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร
โดยเฉพาะบริเวณปลายแหลมด้านปากน้ำบางนรา ชายหาดสวยงามมาก บริเวณนี้ทางจังหวัดมีโครงการจัดพื้นที่ใกล้กับปลายแหลมด้านเหนือเป็นสระว่ายน้ำสำหรับประชาชนทั่วไป
สำหรับบริการร้านอาหารมีอยู่เป็นจำนวนมากเรียงรายอยู่ใต้แนวสนซึ่งร่มรื่นเหมาะแก่การตั้งแคมป์พักแรม
บริเวณชายหาดนราทัศน์มีบังกะโลของเทศบาลจังหวัดให้เช่าพักผ่อน
เขามงคลพิพิธ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เป็นเนินเขาเตี้ยๆ
ในเขตวัดบางนรา ลักษณะเป็นโขดหินใหญ่น้อยซ้อนเรียงกันเป็นกอง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
พระธาตุของพระอรหันต์ พระพุทธรูปพระสังกัจจายน์ พระพุทธไสยาสน์จำลอง
และพระพุทธรูปอื่นๆ อีกหลายองค์ รวมทั้งรูปจำลองหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดแห่งวัดช้างให้
มัสยิดกลางนราธิวาส ตั้งอยู่ที่บ้านบางนรา ก่อนถึงหาดนราทัศน์
เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม มัสยิดกลางนราธิวาสนี้สร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ. 2524 เป็นอาคารตึก 3 ชั้น มีห้องทำละหมาด 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นห้องประชุมใหญ่
ชั้นบนสุดเป็นโดมใหญ่สวยงามมาก มีหอสูงสำหรับส่งสัญญาณอาซาน มัสยิดนี้มีพื้นที่ประมาณ
10 ไร่เศษ ใช้เงินสร้างถึง 21 ล้านบาทเศษ
วัดเขากง-พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล จากตัวเมืองใช้ทางหลวงสาย
อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอระแงะ (ทางหลวงสาย 4055) ประมาณ 6 ก.ม. ถึง
ก.ม. ที่ 105 จะมองเห็นวัดเขากง และพระพุทธรูปทักษิณมิ่งมงคลสีทองประทับนั่งปางประทานพรอยู่บนยอดเขา
วัดเขากงตั้งอยู่ในตำบลเขากง อำเภอเมือง มีเนื้อที่กว้าง 142 ไร่ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล
เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2509 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นกว่า
5 ล้านบาท องค์พระเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หน้าตักกว้าง 17 เมตร สูงจากบัวใต้พระเพลาถึงพระเกศบัวตูม
23 เมตร และได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยดินจากสังเวชนียสถานมาประดิษฐานที่พระอุระเบื้องซ้าย
การก่อสร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง
องค์พระพุทธรูปมีลักษณะตามอิทธิพลของสกุลศิลปะอินเดียใต้โจฬะรุ่นหลัง
จะพบพุทธรูปสกุลนี้มากที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนเรียกกันว่า แบบนครศรีธรรม
ราช หรือเรียกอย่างสามัญว่า พระพุทธรูปแบบ ขนมต้ม เนื่องจากพระวรกายล่ำสันทุกส่วน
สังฆาฏิจัดกลีบแผ่กว้างเต็มพระอังสาเบื้องซ้าย และชายจีวรใต้พระเพลาทำเป็นริ้วให้ความรู้สึกของการตกแต่งสวบงามกว่าแบบอื่นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากองค์พระพุทธทักษิณมิ่งมงคลแล้ว ยังมีพระอุโบสถและเจดีย์สิริมหามายา
ซึ่งเป็นรูปทรงระฆัง ภายในโปร่ง บนยอดสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อยู่บนเขาตันหยงมัส การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข
42 ที่ผ่านใจกลางเมืองนราธิวาส เลี้ยวขวาไป 100 เมตร จะมีแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข
4084 (อำเภอเมือง-อำเภอตากใบ) บริเวณกิโลเมตรที่ 7-8 จะมีแยกเข้าสู่เขตพระราชฐาน
ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร สำหรับองค์พระตำหนักสร้างเป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน
ลักษณะเป็นทรงปั้นหยาสมัยใหม่ ส่วนหมู่พระตำหนักแบ่งออกเป็น 2 หมู่ หมู่บนจัดเป็นที่ประทับมีพระตำหนักตันหยง
มีตึกที่ทำการของกองราชเลขาฯ ในพระองค์ ตึกราชองค์รักษ์ เรือนข้าหลวง
ห้องเครื่อง และเรือนรับรอง สำหรับหมู่ล่างจะอยู่บริเวณเชิงเขาตันหยงเป็นดงมะพร้าวใกล้ชายทะเล
มีอาคารที่พักมหาดเล็กและข้าราชบริพาร กองรักษาการณ์ หน่วยแพทย์ และโรงรถหลวง
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา
09.00-16.00 น. เว้นเฉพาะช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับอยู่เท่านั้น
ปากบาง-แม่น้ำบางนรา แม่น้ำบางนราไหลผ่านตัวเมืองนราธิวาส
ออกสู่ทะเลที่ปากบาง หรือปากน้ำบางนรา ซึ่งอยู่ใกล้กับหาดนราทัศน์ บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงท้องถิ่น
ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมภาพชีวิตชาวประมง และชมเรือกอและ ซึ่งมีศิลปะลวดลายสีสันสวยงามเป็นจำนวนมากในลำน้ำ
โดยเฉพาะในยามเย็นที่ชาวประมงนำเรือกอและออกไปหาปลา นอกจากนี้แม่น้ำบางนรายังเป็นสถานที่จัดงานแข่งเรือกอและเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
ชายหาดอ่าวมะนาว อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร
บริเวณเขาตันหยงมัสไปตามถนน ทางหลวงหมายเลข 4084 (อำเภอเมือง-อำเภอตากใบ-อำเภอสุไหงโก-ลก)
ระหว่างกิโลเมตรที่ 3-4 เลี้ยวซ้ายตามป้ายที่ปากทางอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
เป็นทางราดยางตลอด อ่างมะนาวมีหาดทรายเป็นแนวยาวประมาณ 4 กิโลเมตร สวยงาม
สามารถเล่นน้ำได้ แต่ไม่มีที่พัก
หมู่บ้านยะกัง เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหมู่บ้านบางนรา
(ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามเส้นทางสาย
4055 (อำเภอเมือง-อำเภอระแงะ) ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิดผ้าปาเต๊ะ
หรือผ้าบาติก ซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ลวดลาย รูปแบบแปลกตา และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง
หมู่บ้านทอน อยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสเป็นระยะทางประมาณ
16 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 4136 (นราธิวาส-บ้านทอน) เป็นหมู่บ้านชาวประมงไทยมุสลิมที่เป็นแหล่งผลิตเรือกอและ
เป็นแหล่งผลิตวัสดุในการทำกระจูดปาหนัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำบูดู
และข้าวเกรียบปลา ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย
ในเขตอำเภอตากใบ
วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่หมู่
3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จากสี่แยกตลาดอำเภอตากใบแยกซ้ายประมาณ 100 เมตร
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
(ร. 5) ให้เป็นด่านพรมแดนสุดท้ายของไทย ด้านตะวันออก เมื่อครั้งอังกฤษได้มลายูเป็นเมืองขึ้นนั้น
อังกฤษพยายามจะรวมเมืองนราธิวาสไว้ในเขตมลายูด้วย แต่ทว่าทางไทยเราได้อ้างว่าหัวเมืองนี้เป็นของไทยมานาน
โดยยกเอาวัดชลธาราสิงเห ที่อำเภอตากใบ ซึ่งเป็นวัดไทยมาเป็นข้ออ้าง อังกฤษจึงยอมให้นราธิวาสรวมอยู่ในเขตของไทย
ในบริเวณวัดชลธาราสิงเหมีสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ศิลปะฝีมือแบบไทยปักษ์ใต้เป็นจุดเด่นและงดงามหลายชิ้น
ในโบสถ์เก่าซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ซึ่งเขียนโดยฝีมือพระภิกษุชาวสงขลางดงามมาก และถ่ายทอดรูปแบบชีวิต-วัฒนธรรม-ความเป็นอยู่ท้องถิ่นปักษ์ใต้ไว้เด่น
น่าสนใจเป็นพิเศษ เปิดให้ชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. โดยต้องขออนุญาตจากท่านเจ้าอาวาสก่อน
ศาลาธรรมรุ่นเก่าอีกหลังหนึ่งเป็นศิลปะปักษ์ใต้ ผสมอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีนแปลกตา
และในวิหารเก่าด้านหลังวัด มีประติมากรรมปูนปั้นรูปพระนารายณ์ 4 กร ที่บ่งถึงอิทธิพลศาสนาพราหมณ์อีก
1 องค์ กับเครื่องถ้วยชาม ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องถ้วยชามสมัยราชวงศ์ซ้อง
กับพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งพิทักษ์โดยพญานาค 2 ตน ที่ยังกำหนดอายุและยุคสมัยของงานศิลปะไม่ได้แน่ชัด
เกาะยาว อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร จากสี่แยกตลาดตากใบเลยไปยังแม่น้ำตากใบ
มีสะพานไม้ชื่อ สะพานคอย 100 ปี ยาว 345 เมตร ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยัง
เกาะยาว ซึ่งทางด้านตะวันออกของเกาะจะติดกับทะเล มีหาดทรายละเอียดสีขาวสวยงาม
สามารถเล่นน้ำได้ มีหมู่บ้านชาวประมงและสวนมะพร้าว
ชายหาดกูบู-บ้านคลองตัน อยู่ในท้องที่ตำบลไทรวัน
และตำบลศาลาใหม่ทอดยาวไปจนถึงตำบลเจ๊ะเห มาสุดที่ปากแม่น้ำสุไหงโก-ลกชายแดนไทย
ความยาวโดยประมาณ 25 กิโลเมตรการเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ)
ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จะมีถนนถึงชายหาดระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีทิวทัศน์สวยงาม
หาดทรายขาวสะอาด มีต้นสนขึ้นเป็นระยะๆ ร่มรื่นและเงียบสงบ
ด่านตาบา (ด่านตากใบ) ตั้งอยู่ที่บ้านตาบา
ตำบลเจ๊ะเห อยู่ห่างจากตัวอำเภอตากใบเพียง 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข
4084 (อำเภอเมือง-อำเภอตากใบ) เป็นช่องทางการเข้า-ออกของการท่องเที่ยวและค้าขายระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย
ซึ่งนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย และประเทศมาเลเซียจะเดินทางได้โดยไม่ต้องอาศัยด่านสุไหงโก-ลกเพียงทางเดียว
เป็นการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในบริเวณด่านตาบาจะมีด่านศุลกากรและตลาดสด
มีเรือหางยาว และแพขนานยนต์ข้ามฝั่งไปมาระหว่างประเทศได้โดยสะดวก
บ้านพร่อน-โคกอิฐ-วัดพระพุทธ ตั้งอยู่ที่ตำบลพร่อน
ห่างจากตัวอำเภอตากใบประมาณ 5 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ
38 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ) และเส้นทางหมายเลข
4057 (ตากใบ-สุไหงโก-ลก) สภาพถนนเป็นถนนดินลูกรัง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 มีร่องรอยศาสนสถาน ป้อมค่าย คูเมือง เครื่องปั้นดินเผาและถ้วยชาม
สำหรับโบราณสถานที่สำคัญคือ ศาลาการเปรียญที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงาม และมีสภาพที่สมบูรณ์หาชมได้ยาก
และในปัจจุบันนี้ได้จัดตั้งโรงทอผ้าตามโครงการศิลปาชีพอีกด้วย เป็นโรงทอผ้าขนาดใหญ่
ดังนั้นจึงมีนักท่องเที่ยว ให้ความสนใจมาชมตลอดเวลา
ในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก
ด่านสุไหงโก-ลก อยู่ห่างจากสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก
ประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง นราธิวาสสามารถเดินทางไปยังอำเภอสุไหงโก-ลกได้
2 เส้นทาง คือจากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 4055 (อำเภอเมือง-อำเภอระแงะ)
แล้วแยกซ้ายที่บ้านมะนังตายอ ไปตามเส้นทางหมายเลข 4056 ผ่านอำเภอสุไหงปาดี
เข้าสู่อำเภอสุไหงโก-ลก หรืออาจใช้เส้นทางหมายเลข 4084 จากตัวเมืองนราธิวาสไปยังอำเภอตากใบ
แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4057 (อำเภอตากใบ-อำเภอสุไหงโก-ลก)
เข้าสู่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นระยะทาง 66 กิโลเมตร ด่านสุไหงโก-ลกเป็นทางเข้าออกในการท่องเที่ยวและค้าขาย
ระหว่างประเทศที่ใหญ่กว่าด่านตาบา ที่อำเภอตากใบ สามารถเข้า-ออกได้สะดวกกว่าโดยมีสะพานซึ่งสร้างโดยรัฐบาลไทย
และมาเลเซีย เปิดระหว่างเวลา 05.00-18.00 น.
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ ตั้งอยู่ที่ซอยภูธร ถนนเจริญเขต ในเขตเทศบาลตำบล
เดิมทีเจ้าแม่โต๊ะโมะนี้ ประดิษฐานอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จนกระทั่งชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่อำเภอสุไหงโก-ลก
และในทุกๆ ปี จะมีการจัดงานประเพณีประจำปีที่บริเวณศาลเจ้า ซึ่งตรงกับวันที่
23 เดือนสามของจีน (ประมาณเดือนเมษายน) ในงานจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น
มีการจัดขบวนแห่เจ้าแม่ ขบวนสิงโต ขบวนกลองยาว และยังมีการลุยไฟด้วย
ในปัจจุบันศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะได้เป็นที่นับถือของชาวสุไหงโก-ลกและชาวจังหวัดใกล้เคียง
รวมทั้งชาวจีนในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมาก
ในเขตอำเภอสุไหงปาดี
อ่างเก็บน้ำโคกยาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านเจาะกด ตำบลสุไหงปาดี
จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 4055 (อำเภอเมือง-อำเภอระแงะ) แยกซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข
4056 สู้อำเภอสุไหงปาดี ระยะทางจากอำเภอสุไหงปาดีถึงปากทางสู่อ่างเก็บน้ำประมาณ
10 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางด้านขวามือ ซึ่งเป็นทางลูกรังอีกประมาณ
2 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำนี้เป็นบึงขนาดใหญ่ สามารถบรรจุน้ำได้ถึง 500,000
ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ สร้างในวันที่ 30 กันยายน
2533 บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำจะมีถนนลูกรังล้อมรอบ ในตอนเย็นจะมีนกเป็ดน้ำบินมาที่อ่างประมาณ
100 กว่าตัว ซึ่งทางอำเภอสุไหงปาดีจะพัฒนา อ่างเก็บน้ำและอนุรักษ์นกเป็ดน้ำ
โดยทำคลองส่งน้ำจากคลองโต๊ะแดงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ สร้างศาลาริมน้ำ ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและให้เป็นที่ทำการของสภาตำบลด้วย
ในเขตอำเภอรือเสาะ
หนองบัว อยู่หมู่ที่ 6 ตำบลรือเสาะ ห่างจากอำเภอ 8 กิโลเมตร
เป็นหนองน้ำธรรมชาติ เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ มีบัวหลวงสีแดงเป็นจำนวนมาก
ในเขตอำเภอระแงะ
วัชระอุทยาน อยู่ริมถนนนราธิวาส-ระแงะ อยู่ระหว่างโรงเรียนระแงะกับโรงเรียนตันหยงมัส
ห่างจากตัวจังหวัด 19 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 14 ไร่ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวอำเภอระแงะ
น้ำตกซีโป เป็นน้ำตกที่ค้นพบใหม่บริเวณเชิงเขาลีแย่ ห่างจากสถานีรถไฟตันหยงมัสไปตามทางหลวงหมายเลข
4055 ระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังสภาพไม่ดีนัก เป็นน้ำตก ยอดเขาสูง
5-6 ชั้น เบื้องล่างเป็นแอ่งหินขนาดใหญ่ สภาพภูมิประเทศทั่วไปร่มรื่นมาก
ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 มีเนื้อที่เขตวนอุทยานทั้งสิ้น
625 ไร่ ผลไม้ที่ขึ้นชื่อของอำเภอระแงะ ได้แก่ ลองกองซีโป เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับลางสาด
มีเปลือกหนาและไม่มียางเหมือนลางสาด มีเนื้อน้อยกว่า แต่มีรสหวานกว่า
ลองกองซีโปเป็นผลไม้ ที่ขึ้นชื่อมากของอำเภอระแงะ เด่นกว่าลองกองในเขตอื่นๆ
ของภาคใต้ทั้งหมด
ในเขตอำเภอบาเจาะ
อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด และเทือกเขาสุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ของ
3 จังหวัดทางภาคใต้คือ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา กิ่งอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
และอำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ
อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ประมาณ 293 ตารางกิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข
42 (ปัตตานี-นราธิวาส) แล้วแยกที่บริเวณอำเภอบาเจาะประมาณ 2 กิโลเมตร
ก็ถึงบริเวณที่ทำการอุทยาน สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ มีภูเขาดินสลับซับซ้อน
มียอดเขาตาเวหรือบูเก๊าะตาเว เป็นยอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,800 ฟุต จากระดับน้ำทะเล
ดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นหินอัคนี บางส่วนเป็นหินปูนและกรวดขนาดใหญ่
เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสุไหงโก-ลก
และแม่น้ำบางนรา อุทยานแห่งชาติแห่งนี้มีนกและสัตว์ป่าต่างๆ สัตว์ป่าหายากที่เคยพบในบริเวณนี้คือ
แรด ชะนีมือดำ สมเสร็จ และเลียงผา เป็นต้น และยังมีพันธุ์ไม้ที่หายาก
มีราคาแพง และกำลังจะสูญพันธุ์ คือ หวายตะค้าทอง และ ปาล์มบังสูรย์
(หรือลีแป) ซึ่งจะพบในบริเวณป่าลึกบนภูเขาสูง และสันนิษฐานว่าจะมีอยู่แห่งเดียวในป่าบริเวณนี้
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณอุทยานคือ
น้ำตกบาโจ
หรือปาโจ เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมานานมากที่สุดของจังหวัดนราธิวาส คำว่าบาโจหรือปาโจเป็นภาษายาวี
แปลว่า น้ำตก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล และพระราชวงศ์เคยเสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้
น้ำตกบาโจได้รับการจัดตั้งเป็นเขตวนอุทยาน อยู่ระหว่างเส้นทางสายปัตตานี-นราธิวาส
(ทางหลวงหมายเลข 42) เลยอำเภอบาเจาะ 1 ก.ม. หรือประมาณ 26 กิโลเมตร จากจังหวัดนราธิวาส
มีแยกขวามือบริเวณ ก.ม. ที่ 73 เข้าไปอีก 2 ก.ม. เป็นทางลูกรัง น้ำตกบาโจ
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มี 3 ชั้น น้ำตกจากแผ่นหน้าผาด้านตะวันตกของเขาน้ำค้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบูโด
มีความสูงราว 60 เมตร สภาพโดยทั่วไปร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในบริเวณน้ำตกแห่งนี้คือ
ใบไม้สีทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบกาหลง หรือชงโค
เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีทองและไม่เปลี่ยนแปลงอีกเลยไม่ว่าจะนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิใด
ซึ่งเชื่อว่ามีที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และยังมีตัวอาคารที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งเสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้ นอกจากนี้เหนือน้ำตกปาโจขึ้นไป 2-3
ก.ม. มีน้ำตกขนาดเล็กแห่งหนึ่งชื่อน้ำตกบีซู หรือน้ำตกนางใบ้ แต่ไม่ได้จัดให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน
ทางอำเภอบาเจาะได้จัดไว้เป็นที่ดำเนินการบริการน้ำประปาในท้องถิ่นเท่านั้น
น้ำตกภูแว อยู่บริเวณบ้านปะลุกาแปเราะ ตำบลปะลุกาสาเมาะ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะประมาณ
10 กิโลเมตร น้ำตกภูแวเป็นผาน้ำตกสูง 4 ชั้น ซึ่งชั้นที่ 2 เป็นชั้นที่สวยที่สุด
น้ำตกฉัตรวาริน ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านโผลง ตำบลโต๊ะเด็ง ในเขตอำเภอสุไหงปาดี
ห่างจากตัวอำเภอ 6 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 4056 ถึงอำเภอสุไหงปาดี
ผ่านโรงพยาบาลสุไหงปาดี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีกประมาณ 6 กิโลเมตร
รวมระยะทางจาก นราธิวาสถึงน้ำตกประมาณ 56 กิโลเมตร สภาพทางเข้าน้ำตกเป็นถนนลูกรัง
ในหน้าฝนสภาพทางจะไม่ดี บริเวณโดยรอบเป็นป่า โดยเฉพาะทุเรียนป่ามีดกมาก
จะเริ่มสุกราวเดือนสิงหาคม-กันยายน ตัวน้ำตกเป็นน้ำตกสูง 7 ชั้น สวยงามมาก
มัสยิด 200 ปี (มัสยิดวาดิลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโล๊ะมาเน๊าะ)
หมู่ที่ 1 บ้านตะโล๊ะมาเน๊าะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากจังหวัดนราธิวาส 25
กิโลเมตร และห่างจากอำเภอบาเจาะประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข
42 แล้วแยกที่บ้านบือราแง มัสยิดแห่งนี้สร้างจากไม้ตะเคียนทั้งหลัง ขนาดกว้าง
5 วา 12 วา มีลักษณะพิเศษคือสร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองผสมกับศิลปะแบบจีน
และแบบมลายู เป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน ส่วนที่เด่นที่สุดคือตัวหลังคาซึ่งเป็นศิลปะแบบจีน
ส่วนหลังคาหลังที่ 2 จะมีจั่วอยู่บนหลังคา และมีฐานบัวหงายรองจั่วอยู่บนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนฝาผนังจะเป็นแบบไทยพื้นเมือง ใช้ไม้ทั้งแผ่นเป็นฝา แล้วเจาะฝาเป็นหน้าต่าง
และช่องลมมีลวด ลายต่างๆ เช่น รูปใบไม้และดอกไม้สลับกับลายจีน นับว่าเป็นความสามารถของจิตรกรผู้ออกแบบที่สามารถประยุกต์ศิลปะ
3 ชาติเข้าด้วยกันอย่างงดงาม
หลวงพ่อแดงวัดเชิงเขา ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านเชิงเขา ตำบลปะลุกาสาเมาะ
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบาเจาะประมาณ 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข
42 (ปัตตานี-นราธิวาส) เลี้ยวซ้ายที่บ้านต้นไทรระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร
หลวงพ่อแดงมรณะภาพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 รวมอายุได้ 90 ปี ภายหลังจากที่ท่านได้มรณะภาพไปแล้ว
3 ปี ศพของท่านก็ยังไม่เน่าเปื่อย ประชาชนจึงได้เกิดความศรัทธาและนำศพ
ของท่านไปบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ในเขตอำเภอแว้ง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโละจูด ตั้งอยู่ที่ 95 หมู่ 3 บ้านสูแก
ตำบลโละจูด ห่างจากที่ว่าการอำเภอแว้งประมาณ 11 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่รวบรวมวัตถุโบราณที่ขุดได้และบางส่วน
ได้จากการเก็บสะสมจากอำเภอแว้ง และละแวกใกล้เคียง มีโบราณวัตถุหลายชนิด
เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห มีดพร้า ฯลฯ ซึ่งเครื่องใช้ดังกล่าวล้วนแต่เป็นของโบราณซึ่งมีอายุร่วม
1,000 ปีขึ้นไป โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ในวันและเวลาราชการ
การแข่งเรือกอและ (หน้าพระที่นั่ง) เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน
โดยจัดให้มีการแข่งเรือกอและขึ้นในลำน้ำบางนรา บริเวณตรงข้ามกับศาลาประชาคม
การแข่งเรือนี้จัดเป็นเทศกาลประจำปีในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ตลอดจนพระราชวงศ์เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์คือประมาณเดือนกันยายน
วันลองกอง เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ
(หน้าพระที่นั่ง) โดยจัดขึ้นที่บริเวณศาลาประชาคมจังหวัดนราธิวาส เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการปลูกลองกองอันเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดนราธิวาส
โดยเฉพาะลองกองตันหยงมัส กิจกรรมสำคัญในงานรวมไปถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการปลูก
การดูแลรักษา การออกร้านจำหน่าย และการประกวดผลลองกอง
งานเสื่อกระจูด เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ
(หน้าพระที่นั่ง) โดยจัดขึ้นที่บริเวณศาลาประชาคมจังหวัดนราธิวาสเช่นกัน
เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์จากกระจูดอันเป็นงานหนึ่งของโครงการศิลปาชีพในจังหวัดนราธิวาส
เช่น จากบ้านโคกเคียน และบ้านพิกุลทอง เป็นต้น กิจกรรมในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบ
ซึ่งนำมาจากต้นกระจูดอันเป็นวัชพืชในเขตป่าพรุ หรือที่ลุ่มน้ำขังของจัวหวัดนราธิวาส
ไปจนถึงการนำไปสานเป็นเสื่อลวดลายสวยงามต่างๆ และดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ที่งดงามแปลกตา อาทิ หมวก กระเป๋าถือ ที่ใส่จดหมาย ฝาชี โป๊ะไฟ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตสานผลิตภัณฑ์จากกระจูด
การจัดประกวดและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูดอีกด้วย
งานแห่เจ้าแม่โต๊ะโมะ เป็นเทศกาลสำคัญของอำเภอสุไหงโก-ลก
ซึ่งจัดให้มีขึ้นในเขตเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี
จำนวนวันและวันที่ในการจัดงานนั้นไม่แน่นอนในแต่ละปี เชื่อว่าขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าแม่
ซึ่งคณะกรรมการศาลเจ้าจะถามผ่านพิธีเข้าทรง ลักษณะของงานประกอบด้วยขบวนแห่
ภาคพิธีกรรมและภาคมหรสพ สำหรับขบวนแห่นำโดยขบวนแห่เจ้าแม่แบบการแห่พระจีนทั่วไป
ตามด้วยรถบุปผชาติ ขบวนการแสดงรำของโรงเรียนต่างๆ ขบวนเชิดสิงโตและมังกร
ซึ่งแห่แหนไปตามถนนสำคัญในเขตเทศบาล ส่วนภาคพิธีกรรมมีการเข้าทรงแสดงอภินิหาร
อาทิ การไต่บันไดมีด สำหรับภาคมหรสพมีหลายประเภท มีการแสดงของวงโยวาทิต
ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ และนิทรรศการของหน่วยราชการ
สำนักงานจังหวัด
511450
ศาลากลางจังหวัด
511895
เทศบาลเมือง 511048
สถานีตำรวจภูธร
511177, 511414
ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข
511093
องค์การโทรศัพท์
511332
โรงพยาบาลเมืองนราธิวาส
511060, 511382
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต 3
ศูนย์บริการข่าวสารอำเภอสุไหงโก-ลก
ถ.เอเซีย 18 อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 96120 โทร. (073) 612-126,
615-230 โทรสาร (073) 615-230 (พื้นที่ความรับผิดชอบ : นราธิวาส
ยะลา ปัตตานี)
|