สถานที่ท่องเที่ยว (ต่อ)

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอโคกโพธิ์

           พลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 7 ตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 42 เป็นศาลาทรงไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อ พ.ศ. 2472 ปัจจุบันพลับพลาที่ประทับได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมไว้ นับเป็นสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่สวยงามมาก
          วัดช้างให้ หรือวัดราษบูรณาราม ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไร่ ตำบลทุ่งพลา ริมทางรถไฟสายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระหว่างสถานีนาประดู่กับสถานีป่าไร่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 409 (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชนสุขาภิบาลนาประดู่และสวนยางไปจนถึงซุ้มที่ประตูวัดทางซ้ายมือ เพื่อแยกเข้าสู่วัดช้างให้อีกประมาณ 700 เมตร สภาพถนนราดยางตลอดสาย วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีมาแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของสถูป เจดีย์ มณฑป อุโบสถ และหอระฆัง ล้วนงดงามน่าชื่นชมทั้งสิ้น
         หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ เป็นผู้มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและด้านเวทมนตร์คาถาต่างๆ บางครั้งท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหารย์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คน เช่นครั้ง ที่ท่านเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดพายุ จนกระทั่งข้าวปลาและอาหารตลอดจนน้ำดื่มตกลงทะเลไป ลูกเรือรู้สึกกระหายน้ำมาก หลวงปู่ทวดจึงได้แสดงอภินิหารหย่อนเท้าลงไปในทะเล ปรากฏว่าน้ำในบริเวณนั้นได้กลายเป็นน้ำจืด และดื่มกินได้ ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของท่านก็ขจรขจายไปทั่ว และต่อมาหลวงปู่ทวดได้เสด็จมรณภาพที่ประเทศมาเลเซีย แล้วได้นำพระศพกลับมาที่วัดช้างให้ ที่พักพระศพของหลวงปู่ทวดได้กลายมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านสักการะมาจนทุกวันนี้ พระเครื่องสมเด็จหลวงปู่ทวดมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เชื่อถือของนักเล่นพระมาก งานประจำปีในการสรงน้ำอัฐิหลวงปู่ทวดวัดช้างให้คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 วัดช้างให้เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.  
          อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ตั้งอยู่ที่ตำบลทรายขาว ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 38 กิโลเมตร หือห่างจากที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ประมาณ 6 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 42 เลี้ยวเข้าบ้านนาเกตุ เข้าทางหลวงหมายเลข 409 (โคกโพธิ์-นาประดู่) จะเห็นป้าย “น้ำตกทรายขาว” เลี้ยวเข้าไปตามเส้นทาง 4072 ถึงวัดทรายขาว จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางราดยางอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยาน อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวประกอบด้วยจุดเด่นตามธรรมชาติ น้ำตกที่สวยงาม และสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ควรค่าแก่การศึกษา ลักษณะภูมิประเทศทั้งหมดจะอยู่ในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ยาวสลับซับซ้อนติดต่อกัน และมียอดเขาบางจันทร์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ส่วนใหญ่พื้นที่จะลดลงไปทางทิศตะวันตก เป็นที่เนินเขาและที่ราบ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย ส่วนมากหินเป็นหินปูนและหินแกรนิต สภาพภูมิอากาศไม่ร้อนจัดนัก
         -น้ำตกทรายขาว อยู่ในเขตตำบลทรายขาว เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร แล้วไหลลงไปตามลำธารซึ่งบางตอนเป็นแอ่งสวยงามมาก มีความยาวประมาณ 700 เมตร สองข้างลำธารมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมตลอด ให้ความร่มรื่น และสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
         -น้ำตกโผงโผง ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 เขตตำบลปากล่อ เดินทางจากจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 409 ถึงบ้านปากล่อ เลี้ยวขวาไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร น้ำตกโผงโผงเป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได จำนวน 7 ชั้น จากที่ราบชั้นล่างสุดมีแอ่งน้ำตกขนาดใหญ่มองขึ้นไปยังผาน้ำตกชั้นบน จะมองเห็นน้ำตกไหลลงมาเป็นสายน้ำคดเคี้ยวตามหน้าผาและโขดหิน ความสูงของตัวน้ำตกจากยอดเขาสู่แอ่งประมาณ 40 เมตร พื้นที่บริเวณสองข้างลำธารและบริเวณที่ใกล้น้ำตกมีความร่มรื่นถูกปกคลุมด้วยกิ่งใบของพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ขึ้นอยู่หนาแน่น
         -น้ำตกอรัญวาริน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งพลา การเดินทางจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 409 ถึงบ้านห้วยเงาะ ตำบลทุ่งพลา เลี้ยวขวาไปตามทางลูกรัง อีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 37 กิโลเมตร น้ำตกอรัญวารินเป็นน้ำตกในเทือกเขาสันกาลาคีรี ลักษณะน้ำตกแบ่งออกเป็นชั้นๆ รวม 7 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 300-500 เมตร ซึ่งในแต่ละชั้นมีลักษณะความสวยงามแตกต่างกันออกไป

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกิ่งอำเภอไม้แก่น

          หาดทราย-ชายบึงบ้านละเวง เดินทางจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสายปัตตานี-นราธิวาส เป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ทางแยกเข้ากิ่งอำเภอไม้แก่นอยู่ทางซ้ายมือ เมื่อข้ามสะพานกอตอไปและอีกเพียง 8 กิโลเมตร ก็จะถึงชายบึงและหาดทรายบ้านละเวง มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติงดงามแปลกตาแก่ผู้ที่พบเห็น ลักษณะของหาดทรายแห่งนี้ คือ มีบึงขนาดใหญ่เคียงข้างหาดทรายขาวสะอาด ให้บรรยากาศแตกต่างจากหาดทรายอื่น  
          หาดบางสาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลไทรทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 74 กิโลเมตร เป็นถนนราดยางตลอดสาย ลักษณะเป็นหาดทรายชายทะเลยาวประมาณ 5 กิโลเมตร  
          หาดป่าไหม้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลไทรทอง เป็นหาดทรายต่อจากหาดบางสาย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี  

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกิ่งอำเภอทุ่งยางแดง

           วนอุทยานปราสาทนางผมหอม อยู่ในเขตตำบลพิเทน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 52 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 410 (ปัตตานี-ยะลา) ถึงหลัก ก.ม. ที่ 15 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4061 ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงอำเภอมายอ แล้วใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4092 ถึงหลัก ก.ม. ที่ 12 แยกเข้าเส้นทางสายมายอ-โต๊ะชูด เป็นทางลูกรังระยะทางอีกประมาณ 11 กิโลเมตร ก็ถึงวนอุทยานปราสาทนางผมหอม ในวนอุทยานมีน้ำตกลักษณะไม่สูงนัก มีลำธารยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีน้ำมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกิ่งอำเภอกะพ้อ

          น้ำตกห้วยบือแนบูดี อยู่ในบริเวณเทือกเขาน้ำค้าง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางสายปัตตานี-สายบุรี-รือเสาะ เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 11 จึงแยกเข้าสู่น้ำตกด้วยถนนดินลูกรังประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะของน้ำตกแยกเป็น 2 สาย แล้วไหลมารวมกันก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสายบุรี จุดเด่นของน้ำตกแห่งนี้ได้แก่ ความสวยงามบริเวณลำธารที่ยาวประมาณ 1,200 เมตร

               ปัตตานีเป็นจังหวัดเก่าแก่ ที่มีวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิศาสนาต่างๆ เช่น ฮินดู พุทธ อิสลาม และวัฒนธรรมจากจีน เป็นต้น ประเพณีที่ขึ้นชื่อของชาวปัตตานี ได้แก่
          ประเพณีชักพระ เป็นพิธีรำลึกถึงวันรับเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับจากจำพรรษา และแสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ครั้งพุทธกาล ต่อมาจึงได้กลายเป็นประเพณีกระทำกันทุกปี โดยพุทธศาสนิกชนในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์และใกล้เคียงจะชักลากเรือพระ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามจากวัดต่างๆ ผู้ร่วมขบวนจะแต่งกาย อย่างงดงาม มีการฟ้อนรำหน้าเรือพระ มีการนมัสการเรือพระพร้อมกับถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณร ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอ และมีงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน  
          ประเพณีแห่นก จัดขึ้นเป็นเกียรติในงานเทศกาลงานเฉลิมฉลอง หรืองานมงคลทั่วไป เช่น พิธีสุหนัดในศาสนาอิสลาม หรือใช้เป็นขบวนแห่ต้อนรับอาคันตุกะผู้เป็นแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ นอกจากนี้ยังมีประเพณีงานสารทเดือน 10 ระหว่างวันแรม 14-15 ค่ำ มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กลางคืนมีมหรสพของปักษ์ใต้ฉลอง เช่น ลิเกฮูลู ซึ่งคล้ายกับลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง โนรา หนังตะลุง รองเง็ง (คล้ายรำวง นิยมเล่นกันในราชสำนักชวามาก่อน จึงแพร่หลายเข้ามาทางปักษ์ใต้) มะโย่ง (ละครไทยมุสลิมภาคใต้) ซีละ (กีฬาอย่างหนึ่งของชาวมลายู ซึ่งแสดงถึงศิลปะการต่อสู้ที่สง่างามและกล้าหาญ)
          งานฮารีรายอ หรืองานฉลองการเลิกถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม (ในช่วงเดือน 9 ถึงวันที่ 1 เดือน 10 เป็นเวลา 30 วัน) หลังจากการเลิกถือศีลอดแล้ว ชาวไทยมุสลิมในปัตตานีจะไปชุมนุมกันที่มัสยิดกลาง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามโดยพร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้นจึงมีงานมหรสพฉลองเป็นที่ครื้นเครง
          งานฉลองเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นงานประเพณีที่ทำกันทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติของจีน คือหลังวันตรุษจีน 15 วันของทุกปี (หรือตรงกับวันเพ็ญ เดือน 3 ตามจันทรคติของไทย) มีการสมโภชแห่แหนรูปสลักไม้มะม่วงหิมพานต์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและรูปพระอื่นๆ โดยอัญเชิญออกจากศาลมาประทับบนเกี้ยว ตามด้วยขบวนแห่ต่างๆ มีการลุยไฟและแสดงอภินิหารต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ โดยผู้ร่วมพิธีจะต้องถือศีลกินเจอย่างน้อย 7 วันก่อนทำพิธี ในงานนี้จะมีชาวปัตตานีและชาวจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก มีการเซ่นไหว้และเฉลิมฉลองกันเป็นที่สนุกสนาน 
          งานแห่พระอีก๋ง หรือแห่เจ้าพ่อเล่าเอี่ยกง เป็นงานประเพณีของอำเภอสายบุรี ซึ่งจัดในวันแรม 2 ค่ำ และ 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ณ บริเวณศาลเจ้าบางตะโละ ซึ่งตรงข้ามตำบลตะลุบัน หรือบริเวณศาลเจ้าแห่งใหม่ ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน โดยผลัดกันจัดงานสมโภชในแต่ละแห่งปีเว้นปี จุดสำคัญของงานคือการจัด ขบวนแห่รูปแกะสลักไม้เป็นรูปพระเจดีย์เจ้าพ่อเล่าเอี่ยกงและบริวาร งานดังกล่าวนี้เป็นที่น่าสนใจของ ชาวไทยพุทธในอำเภอสายบุรีและใกล้เคียง ซึ่งได้ยินได้ฟังเรื่องราวความเป็นมาตลอด จนศรัทธาในอิทธิปาฏิหารย์ของเจ้าพ่อ  
          ประเพณีลาชัง ประเพณีนี้ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า “ปูยอบือแน” เป็นพิธีฉลองนาข้าว หรือซังข้าว ซึ่งทำกันทุกหมู่บ้าน ทั้งไทยพุทธและไทยอิสลาม ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่แต่ที่ตำบลควน อำเภอปะนาเระเท่านั้น ประเพณีนี้จะจัดให้มีขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวราวเดือน 5 หรือเดือน 6 จะมีการทำหุ่นฟางรูปชาย-หญิงจับคู่กัน แล้วจัดขบวนแห่ไปวางไว้บนศาลเพียงตา พร้อมทั้งเครื่องสังเวย เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวเหนียวห่อต้ม ไข่ต้ม เป็นต้น หลังจากนั้นผู้อาวุโสในหมู่บ้านท่านหนึ่งจะกล่าวคำ บวงสรวงแต่งงานให้แก่หุ่นซังข้าว แล้วนำหุ่นดังกล่าวไปเก็บไว้ในนาใกล้ๆ ศาลเพียงตา จุดประสงค์ของการทำพิธี นี้ก็เพื่อขอบคุณเจ้าแม่โพสพ หรือพระเจ้าที่บันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ และเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงหลังการเก็บเกี่ยว  
          งานแข่งขันกีฬาตกปลาสายบุรี จะจัดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่บริเวณชายหาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี กีฬาตกปลาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และจากสภาพภูมิศาสตร์ของหาด ที่มีชายฝั่งทะเลยาวเหยียด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลานานาชนิด จึงทำให้กีฬาตกปลานี้เป็นกีฬาที่น่าตื่นเต้น ท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง

              ปัตตานีมีสินค้าพื้นเมืองที่น่าสนใจมากมาย เช่น ปลาหมึกแห้ง น้ำบูดู ข้าวเกรียบปลา ลูกหยีกวน เครื่องทองเหลือง ผ้าปาเต๊ะ เป็นต้น
     ปลาหมึกแห้ง ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานีมาจากอำเภอปะนาเระ เป็นปลาหมึกตัวโตขาวใส รสชาติดี
    น้ำบูดู ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำข้าวยำ อันเป็นอาหารพื้นเมืองภาคใต้ หากมาจากอำเภอสายบุรีแล้วถือว่าเป็นน้ำบูดูที่ดีมาก อร่อยและเก็บไว้ได้นาน
    ข้าวเกรียบปลา เป็นของพื้นเมืองที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของอำเภอสายบุรี อร่อยไม่แพ้ข้าวเกรียบกุ้ง และไม่คาว
    ลูกหยีกวน ของอำเภอยะรัง เป็นลูกหยีกวนชนิดไม่มีเมล็ด ทำเป็นห่อขนาดเล็ก รสกลมกล่อม เปรี้ยว หวาน เค็มกำลังดี และมีรสเผ็ดนิดๆ กันเลี่ยน
    เครื่องทองเหลือง ประเภทถาดชนิดต่างๆ ที่มีการฉลุลาย ขันและภาชนะทองเหลืองแบบต่างๆ มีขายอยู่ที่ถนนปัตตานี
    ผ้าปาเต๊ะ และผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะชนิดต่างๆ เช่น ผ้าตัดเสื้อ ผ้าโสร่ง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดหน้า ผ้ารองจาน ฯลฯ มีขายที่ร้านมุสลิมพาณิชย์ และร้านนะห์ดีบราเธอร์ อยู่หน้าตลาดเทศบาลถนนฤดี
    กรงนกเขาปัตตานี ผู้ที่สนใจการเลี้ยงนกเขาน่าจะลองดูกรงนกเขาของปัตตานีบ้าง กรงนกเขาปัตตานีทำมาจากไม้ไผ่เหลาอย่างสวยงาม มีแบบให้เลือกมากมาย มีแหล่งผลิตอยู่ที่ตลาดปรีกรี หมู่ที่ 3 ตำบลกระโด อำเภอเมือง มีขายที่ร้านง่วนหลีและร้านอั้งเง็กหลี ถนนฤดี นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา เช่น กระเป๋า หมวก ตะกร้า พัด ชุดรับแขกหวายผสมย่านลิเภา ผลิตและจำหน่ายที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดปัตตานี เลขที่ 102 หมู่ 8 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

          สำนักงานจังหวัดปัตตานี 349002
          โรงพยาบาล 349479, 349260
          สถานีตำรวจภูธร 349220
          ตรวจคนเข้าเมือง 349320
          การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต 3   ศูนย์บริการข่าวสารอำเภอสุไหงโก-ลก  ถ.เอเซีย 18 อ.สุไหงโก-ลก  จ.นราธิวาส 96120  โทร. (073) 612-126, 615-230 โทรสาร (073) 615-230   (พื้นที่ความรับผิดชอบ : นราธิวาส ยะลา ปัตตานี)

 BACK

  สนับสนุนข้อมูลโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย