 |
Paul Tomkins: ลูคัส เลว่าผู้คืนความสมดุลสู่ลิเวอร์พูล
แปลจากบทความของ Paul Tomkins ที่ลงในเวบทางการ เนื่องจากช่วงนี้งานเยอะเลยไม่ค่อยได้เข้าเวบของพอล ทอมคินส์ ก็เลยไม่รู้ว่าแกเขียนลงเวบทางการไปตั้งแต่เมื่อวาน ขอบคุณคุณ Pit Bull ที่สะกิดเตือนนะครับ ^^
บางทีนี่อาจจะเป็นครั้งแรกของซีซั่นเลยก็ว่าได้ ที่คุณสามารถมองไปที่ผลการแข่งขันในลีก 5 นัดล่าสุดแล้วพูดได้ว่าลิเวอร์พูลเดินหน้าเก็บคะแนนได้ตามที่คาดหวังไว้
การเสมอที่เชลซีและสวอนซีนั้นเป็นยิ่งกว่าความยอดเยี่ยม และการเก็บสามคะแนนในบ้านกับวีแกนและเซาท์แธมตันก็ถือว่าทำได้เสมอตัว (คุณมักจะได้เล่นเกมในบ้านติดๆกัน และที่นี่ซึ่งเป็นที่ๆคุณมักจะทำแต้มหลุดมือให้กับทีมที่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆท้ายตาราง และสุดท้ายแล้วนั่นก็กลายมาเป็นวันแย่ๆของคุณซะงั้น)
หนึ่งคะแนนที่สเปอร์ส, บางทีนั่นเป็นอะไรที่เราสมควรจะได้รับออกมา, นั่นคงจะเป็นการเสมอ 3 นัดติดต่อกันต่อทีมที่อยู่ในพื้นที่ท็อปเซเว่น การเก็บคะแนนให้ได้อย่างน้อย 1 คะแนนจากแมทช์นอกบ้านและการเอาชนะเกมส่วนใหญ่ในบ้านให้ได้ นั่นแหละคือฟอร์มการเก็บคะแนนของทีมในกลุ่มท็อปโฟร์ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง..ลิเวอร์พูลต้องจ่ายค่าตอบแทนราคาสูงให้กับการเริ่มต้นที่ติดขัดที่ไวท์ ฮาร์ท เลน คุณวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่กับยี่สิบนาทีแรกของนัดนี้แต่คุณก็ต้องให้การชมเชยต่อการตอบสนองของผู้เล่นเช่นกัน
อย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไปแต่มั่นคงและแน่นอน สิ่งต่างๆเริ่มเข้ารูปเข้ารอยแล้วสำหรับทีมลิเวอร์พูลของร็อดเจอร์ส ทีมกำลังก้าวไปในทิศทางที่ดูดี และเราก็ไม่ค่อยจะได้เห็นการโชว์ฟอร์มดีๆตลอด 90 นาทีจากลิเวอร์พูลในระยะหลังๆมากนัก แต่อย่างน้อยลิเวอร์พูลในตอนนี้ดูจะถูกพิชิตได้ยากขึ้น, เก็บคลีนชีตได้มากขึ้น, และเริ่มชนะได้มากขึ้น ความผิดพลาดเล็กๆน้อยแต่ราคาแพงที่เคยเห็นกันในช่วงแรกๆของซีซั่นก็ไม่ค่อยจะพบเห็นแล้ว
หลังจากที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักกับเกมในบ้านในช่วงแรกๆ ส่วนหนึ่งมาจากความร้ายกาจของคู่ต่อสู้และส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาดที่กล่าวไปข้างต้น ตอนนี้ลิเวอร์พูลชนะได้ 3 จาก 4 เกมในบ้านล่าสุดในพรีเมียร์ลีกและเก็บคลีนชีตได้อีกหนึ่งจากชัยชนะเหล่านั้น การเล่นในครึ่งหลังกับวีแกนและในครึ่งแรกกับเซาท์แธมตันนั้นแสดงให้เห็นถึงฟอร์มการเล่นที่ไหลลื่นและเปี่ยมประสิทธิภาพ
ข้อกังวลประการหนึ่งคือชัยชนะทั้งสี่ครั้งที่เราได้มานั้น เป็นการเอาชนะทีมที่อยู่ในโซนตกชั้นทั้งสิ้น แต่ฟอร์มการเล่นในนัดเจอแมนซิตี้, แมนยูไนเต็ด, เชลซี, และสเปอร์นั้นทีมสมควรจะได้มากกว่าสองคะแนนจริง (จะว่ากันอย่างแฟร์ๆเราควรจะได้มาสักห้าหรือหกคะแนนด้วยซ้ำไป) มีแค่เกมแพ้อาร์เซน่อลเท่านั้นที่ทำให้ผมจุก อาร์เซน่อลมีการออกสตาร์ทที่ดีมากในซีซั่นนี้และดูดียิ่งขึ้นไปอีกกับเกมหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง (ทำให้คิดถึงปัจจัยประการหนึ่งที่ร็อดเจอร์สไม่เคยไขว่คว้าได้ นั่นคือจังหวะของตารางการแข่งขันดีๆนั่นเอง)
การสร้างทีมให้มีความสมดุลที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของผู้จัดการทีม เขาได้พยายามสลับสับเปลี่ยนการเล่นในแผงมิดฟิลด์มาหลายครั้งแล้ว เขาถึงกับปรับเปลี่ยนทั้งบทบาทผู้เล่นในแผงหลังแต่ก็ไม่เกิดผลเท่าไร จนกระทั่งเกมพบกับเซาท์แธมตันนั่นแหละ ที่การกลับมาของลูคัส เลว่าและการคืนสู่แบ็คขวาของเกล็น จอห์นสัน ที่ทำให้คุณเริ่มสัมผัสได้แล้วว่าอะไรๆในทีมเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง
นี่ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์การจับผู้เล่นไปเล่นตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งประจำของตัวเอง ที่จริงผมว่าผมคิดไปไกลกว่าความคิดแบบนั้นไปแล้ว เหมือนกับคำบอกกล่าวที่ว่า เหมือนการจับเอาของทรงกลมไปยัดใส่ช่องสี่เหลี่ยม-bad fit ที่ถูกใช้กันจนมากเกินไปแล้ว ขณะที่คุณมักจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เก่งเฉพาะทางหลายคน นักฟุตบอลหลายคนก็มีความถนัดสันทัดที่ปรับแปลงได้ อย่างจอห์นสันเป็นต้น เขาปรับวิธีการเล่นของเขาให้เข้ากับตำแหน่งแบ็คซ้ายได้เนียนมาก และอีกตัวอย่างหนึ่งของการดันผู้เล่นไปเล่นตำแหน่งใหม่ๆและเกิดประโยชน์ต่อทีมได้จริง นั่นคือโฮเซ่ เอ็นริเก้ผู้ที่ค้นพบฟอร์มอันยอดเยี่ยมของเขาอีกครั้งได้ด้วยการปรับไปเล่นในตำแหน่งปีกซ้าย และเมื่อต้องถอยกลับมาเล่นแผงหลังตามเดิม เขาก็กลับมาดูเหมือนเอ็นริเก้-ผู้เล่นแบ็คซ้ายฟอร์มดีๆคนเดิมที่ลิเวอร์พูลเซ็นต์เขาเข้ามาเมื่อ 18 เดือนที่ผ่านมา
ก็นั่นแหละ การจัดตัวเมื่อวันเสาร์ที่เป็นการผสมผสานที่ดูเนียนกว่าเดิมอีกสักหน่อย ในขณะที่คุณมีผู้เล่นที่ไม่ได้เล่นในตำแหน่งปกติของตัวเองมากเกินไปในทีม บางทีมันก็อาจจะให้เกิดความพลั้งพลาดในสัญชาติญานการเล่นของพวกเขาได้ พวกผู้เล่นจำต้องใช้เวลาเพิ่มกว่าปกติอีกนิดนึงในการคิดว่าเขาต้องทำอะไรต่อไป
ลูคัสนั้นยอดเยี่ยมมากกับการรู้ว่าเขาควรจะอยู่ที่ไหนในเวลานั้น, และถึงแม้จะยังขาดความฟิตไป, แต่เขาก็ได้สร้างความแตกต่างขนานใหญ่ในการขจัดความหวาดผวาของลิเวอร์พูลต่อเกมโต้กลับของคู่แข่งไปได้ เขาเข้าแท็คเกิ้ลไป 8 ครั้งซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้เล่นลิเวอร์พูลคนถัดไปที่ทำแท็คเกิ้ลรองจากเขา (3 ครั้ง) และในจำนวน 8 ครั้งนั้น เขาเอาชนะคู่แข่งไปได้ถึง 7 ครั้งด้วยกัน
กับการกลับมาของหนุ่มบราซิลเลี่ยนคนนี้ ทำให้จำนวนผู้เล่นดาวรุ่งในทีมที่พบกับเซาท์แธมตันนั้นลดน้อยลงไปอีกหนึ่งหน่วย เราพูดได้ว่าพวกดาวรุ่งทั้งหลายได้ทำผลงานที่ดีเยี่ยมและบางคนในนั้นเข้าขั้นเจิดจรัสเลยล่ะ ประสบการณ์ที่ได้จะช่วยส่งเสริมพวกเขาและลิเวอร์พูล แต่มันแทบจะไม่ส่งผลใดๆอย่างทันทีทันใดต่อผลการแข่งขันเท่าไรเลย
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดอาจจะคว้าแชมป์ลีกในปี 1996 ได้ด้วย พวกเด็กๆ (ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าผมหมายความถึงอะไร ให้เข้ากูเกิ้ล-พิมพ์ Alan Hansen และตามด้วย you dont win anything with..) แต่พวกเขาก็มีผู้เล่นที่มีประสบการณ์สูง 5 หรือ 6 คนลงเล่นด้วยเกินกว่า 20 เกมลีก: ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล (อายุ 33 ปี) เดนิส เออร์วิน (31), ไบรอัน แม็คแลร์ (33), แกรี่ พัลลิสเตอร์ (30) และเอริค คันโตน่า (30) พร้อมด้วยแอนดี้ โคล, ลี ชาร์ป, และรอย คีนที่ไม่ใช่วัยกระเตาะอีกต่อไปแล้วในวัย 25 ปี และถึงแม้จะถูกขนานนามว่า kids-พวกเด็กๆ แต่พวกเขาก็ไม่ได้เด็กขนาดนั้นสักหน่อย เราลองดูกันว่าพวกเขานั้นเด็กกันขนาดไหน: ไรอัน กิ๊กส์ (22), นิคกี้ บัตต์ (21), แกร์รี่ เนวิลล์ (21), พอล สโคลส์ (22), และเดวิด เบ็คแฮม (21) จะมีก็ไอ้หนูฟิล เนวิลล์แหละที่ยังเป็นทีนอยู่ (1 นั่นช่างต่างไปจากราฮีม สเตอร์ลิ่ง (17), ซูโซ่ (เพิ่งจะครบ 19 ไปไม่นานนี้เอง), และอังเดร วิสดอม (19)
ผลงานดีๆได้ถูกสร้างออกมาด้วยกลุ่ม เด็กๆ ของยูไนเต็ดในช่วงกลางทศวรรษที่ 90s แต่สโคลส์กับกิ๊กส์ก็มีอายุไล่ๆกันกับโจ อัลเลนและจอร์แดน เฮนเดอร์สันของเราในตอนนี้ และพวกเขาไม่เห็นจะเคยถูกเรียกว่าเป็นพวกวัยรุ่นสักหน่อย แถมผู้คนมากมายต่างหวังจะเห็นพวกเขาโชว์ฟอร์มเทพแบบพวกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนแล้วอีกต่างหาก
ในขณะที่ยูไนเต็ดมีผู้เล่นซีเนียร์ที่มีอายุ 30 ปีหน่อยๆอยู่ในทีม 5 คนเมื่อ 16 ปีที่แล้ว, เพื่อช่วยรักษาสมดุลของผู้เล่นอายุน้อยๆด้วยประสบการณ์ความเก๋าเกม, ลิเวอร์พูลเล่นซีซั่นนี้ด้วยผู้เล่นซีเนียร์จริงๆแค่สองคนคือสตีเว่น เจอร์ราร์ดและเปเป้ เรน่า ขณะที่เกล็น จอห์นสัน, ดาเนียล แอ๊กเกอร์, มาร์ติน สเคอเทล, และหลุยส์ ชัวเรซต่างเป็นผู้เล่นที่อยู่ในระดับเติบโตเต็มที่ แต่การกลับมาของลูคัส-ผู้ที่มีอายุมากกว่าและมีประสบการณ์มากกว่าตัวแทนชั่วคราวของเขา-ได้ช่วยเสริมความหนักแน่นในพื้นที่กลางสนามและทีมลิเวอร์พูลโดยรวม ไม่เพียงแค่เขาจะช่วยเพิ่มสมดุลในสูตรการเล่น เขายังช่วยเพิ่ม สมอง ที่ผ่านโลกมามากขึ้นอีกคนหนึ่ง
ลิเวอร์พูลที่เล่นกับเซาท์แธมตันก็ดูจะเป็นทีมพลังหนุ่มอยู่พอสมควร-ที่อายุเฉลี่ย 25.4 ปี ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของทีมในพรีเมียร์ลีกอยู่พอสมควร แต่นั่นก็ยังเป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยมากกว่าทีมลิเวอร์พูลในเกมบางเกมที่ร็อดเจอร์สเคยจัดลงสนามในซีซั่นนี้อยู่ราวๆ 1 ปีโดยเฉลี่ย ซึ่งนั่นอาจจะหมายความว่าถ้าคุณคาดหวังจะเห็นทีมที่มีผู้เล่นอายุเฉลี่ย 24 ปีจะเล่นให้ได้ดีขนาดนั้นในเวลา 12 เดือนล่ะก็ เกมที่ลิเวอร์พูลเล่นกับเซาท์แธมตันนี่แหละคือสิ่งที่ทีมลิเวอร์พูลในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจะเป็นเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2013 จะมาถึง
ถึงแม้ว่าเราจะมองทีมๆหนึ่งว่าเป็นการรวมกลุ่มกันของคนหลายๆคน, ณ จุดๆหนึ่ง ระดับไหวพริบและความเฉลียวฉลาดจะถูกประเมินจากอายุเฉลี่ยของพวกเขา พวกดาวรุ่งมักจะทำผิดพลาดเสมอๆ ความขาดประสบการณ์สามารถทำให้พวกเขากลายเป็นห่วงโซ่ที่อ่อนแอของทีมได้
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทีมต้องตระหนักคือระยะเวลาเท่าไรแล้วไหนที่พวกเขาได้มารวมกลุ่มกัน หลายๆคนมักพูดถึงการสร้างทีมเยาวชนของบาร์เซโลน่า และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มันสุดยอดไปเลยที่ได้เห็นผู้เล่นทั้งสิบเอ็ดคนของพวกเขาต่างเป็นผู้เล่นที่ผ่าน La Masia-อคาดิมี่ของบาร์เซโลน่ากันทุกคน (ถึงแม้ว่าบางคนอย่างเกราร์ด ปิเก้และเชส ฟาร์เบรกาสจะใช้เวลาช่วงหนึ่งกับสโมสรอื่นมาก็ตาม) พวกผู้เล่นเหล่านี้ได้เล่นร่วมกันมาตั้งแต่ 10-20 ปีแล้ว และพวกเขาก็ยังจัดเป็นกลุ่มคนหนุ่มอยู่เลย คุณไม่สามารถแกล้งทำหรือหลอกตัวเองได้เลยในเรื่องนี้ พวกเขาไม่เพียงแค่เคยร่ำเรียนทักษะการเล่นที่ดีที่สุดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย (และที่สำคัญพอๆกันคือพวกเขาได้รับการสอนให้หลีกเลี่ยงการประพฤตินิสัยแย่ด้วย) จากนั้น พวกเขายังได้ยกระดับตัวเองและพัฒนาตัวเองในอัตราเดียวกันซึ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ด้วยการพัฒนาทีมที่อาศัยการซื้อผู้เล่นเป็นหลัก
คุณมักจะได้ผู้เล่นหน้าใหม่สักคนหรือสองคนที่ดูเหมือนจะปรับตัวเองให้เข้ากับความคิดความอ่านของคนอื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ (น่าประหลาดใจที่หลุยส์ ชัวเรซและโฮเซ่ เอ็นริเก้คือผู้เล่นแบบนั้น) แต่ในกรณีของบาร์เซโลน่า, มันเป็นทีมทั้งทีมที่ทำได้อย่างนั้น นี่คือประโยชน์ของการมีระบบเยาวชนที่เข้มแข็ง และเป็นเวลาสามปีมาแล้วที่ลิเวอร์พูลได้สร้างสรรและขัดเกลาอคาดิมี่ La Masia ในแบบของพวกเขาเอง มันเริ่มจะผลิดอกออกผลแล้ว แต่มันคงต้องใช้เวลาอีกสักสิบปีเพื่อจะได้อะไรสักอย่างที่เข้าใกล้ระบบเยาวชนชาวคาตาลัน (บาร์เซโลน่า) ในขณะนี้
ผมได้เฝ้ารอมาอย่างอดทน (และบางครั้งก็หมดความอดทน) กับช่วงเวลา พลิกผัน ที่จะเกิดขึ้นในซีซั่นนี้: ประมาณว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดราม่า-กระชากใจ-มีนงงเหมือนโดนทุบหัว และมันก็ยังคงไม่เกิดขึ้น แต่บางทีมันอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ถ้าผลการแข่งขันจะค่อยปรับปรุงให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อยอย่างมั่นคง มันก็น่าจะลงเอยได้ในแบบเดียวกันนั่นแหละ
ผมจบบทความนี้ด้วยสุภาษิตจีนนี้ละกัน อย่ากลัวที่จะเติบโตอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป แต่จงกลัวที่จะทำได้เพียงการยืนอยู่กับที่นิ่งๆดีกว่า
เวบทางการ Tomkins: Lucas the counter-balance ning_ming แปลครับ
http://www.thekop.in.th/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=129493
จากคุณ |
:
Get only me
|
เขียนเมื่อ |
:
วันพ่อแห่งชาติ 55 11:29:47
|
|
|
|
 |