เ
มืองตาก ในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่
ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิง
มายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลล้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้
จังหวัดตากตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าไม้และภูเขา
มีเนื้อที่ประมาณ 16,406.650 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือ จดจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เชียงใหม่ ลำพูน และ ลำปาง ทิศตะวันออก จดจังหวัดสุโขทัย
ทิศตะวันตก จดประเทศสหภาพพม่า โดยมีแม่น้ำเมยและทิวเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศใต้ จดจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร
ระยะห่างระหว่างจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง
ตาก-สุโขทัย 79 กิโลเมตร
ตาก-กำแพงเพชร 68 กิโลเมตร
ตาก-นครสวรรค์ 185 กิโลเมตร
ตาก-พิจิตร 157 กิโลเมตร
ระยะทางจากตัวจังหวัดไปยังจังหวัดใกล้เคียง
จังหวัดสุราษฎร์ธานี 356
กิโลเมตร
จังหวัดตรัง 131 กิโลเมตร
จังหวัดพัทลุง 193 กิโลเมตร
จังหวัดสงขลา 313 กิโลเมตร
จังหวัดกระบี่ 336 กิโลเมตร
การเดินทางจากจังหวัดตากไปยังจังหวัดต่าง ๆ
นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางจากจังหวัดตาก
กลับกรุงเทพฯ หรือไปยังจังหวัดอื่น สามารถเลือกใช้บริการพาหนะต่างๆ ได้คือ
- เครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด
มีบริการเที่ยวบินจากจังหวัดตากและอำเภอแม่สอดไปเมืองต่างๆ คือ กรุงเทพฯ
เชียงใหม่ และพิษณุโลก ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การบินไทย
จำกัด สำนักงานตาก โทร. (055) 512164 สำนักงานแม่สอด โทร. (055) 531440,
531730
- รถโดยสาร บริษัทขนส่ง จำกัด และบริษัทรถเอกชนหลายบริษัทบริการทั้งรถโดยสารปรับอากาศและรถธรรมดา
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์ขนส่งจังหวัดตาก โทร. (055)
511057 นอกจากนี้ยังมีบริษัทรถเช่าให้บริการในเขตอำเภอเมือง
 |
ทางรถยนต์
จังหวัดตากอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร
426 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 แยกซ้ายที่วังน้อย เข้าทางหลวงหมายเลข
32 ผ่านสิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข
1 อีกครั้ง ผ่านเข้าจังหวัดกำแพงเพชร ตรงเข้าจังหวัดตาก รวมระยะทาง
426 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง |
 |
ทางรถโดยสารประจำทาง
บริษัทขนส่ง จำกัด
เปิดบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-ตาก และกรุงเทพฯ-แม่สอด ทุกวัน
รายละเอียดติดต่อสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 936-3660,
936-3666 หรือที่บริษัท ถาวรฟาร์ม จ. ตาก โทร. (055) 511054 และบริษัท
ทันจิตต์ จ. ตาก โทร. (055) 511307 |
 |
ทางอากาศ
สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ-แม่สอด
โดยเครื่องบินโดยสารของการบินไทย กรุงเทพฯ-พิษณุโลก แล้วเปลี่ยนเที่ยวบินที่พิษณุโลก
มีบริการเฉพาะวันอังคาร พฤหัสบดี เสาร์และอาทิตย์ รายละเอียดติดต่อบริษัทการบินไทย
จำกัด โทร. 280-0060 และ 628-2000 |
สถานที่น่าสนใจ
ในเขตอำเภอเมือง
ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ตั้งอยู่ที่บ้านปากร้อง หมู่ที่ 6
ต. ป่ามะม่วง อยู่เชิงสะพานกิตติขจร ก่อนเข้าตัวเมืองตาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองตากเป็นเมืองเก่าก่อนสมัยกรุงสุโขทัย
เป็นเมืองที่มีพระมหาราชเจ้าในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากถึง
4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแกรง แล้วยกทัพกลับราชอาณาจักรไทย
โดยเสด็จผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ
และได้สร้างวัดพระนารายณ์ ที่เชิงสะพานกิตติขจรปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตมหาราชทั้งสี่พระองค์ และเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตาก
จึงได้จัดสร้างศาลาหลักเมืองสี่มหาราชขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535
หนองน้ำมณีบรรพต อยู่ริมถนนพหลโยธิน ทางซ้ายมือก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อย
หนองน้ำแห่งนี้เป็นบึงขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 60 ไร่ ภายในบริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ
มีศาลาพักผ่อน
วัดมณีบรรพตวรวิหาร เป็นวัดหลวงประจำจังหวัด อยู่บนทางหลวงหมายเลข
1 ใกล้โรงพยาบาลตาก ก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อย วัดมณีบรรพตตั้งอยู่บนเนินเขาลูกย่อมๆ
ด้านหลังเป็นเจดีย์ทรงมอญย่อเหลี่ยมไม้ 16 ภายในอุโบสถมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่วัดนี้
และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแสนทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน
หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ชาวบ้านอัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในเขตตำบลแม่ตื่น
อำเภอแม่ระมาด เมื่อปี พ.ศ. 2473 นับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองตาก
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ที่สี่แยกถนนจรดวิถีถ่อง
ตัดกับถนนมหาดไทยบำรุง ใกล้ศาลากลางจังหวัด ศาลนี้แต่เดิมอยู่บนดอยวัดเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง
ต่อมาในปี 2490 ชาวเมืองเห็นว่า ศาลนั้นไม่สมพระเกียรติ จึงช่วยกันสร้างศาลขึ้นใหม่
พร้อมกับให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อยในพระราชอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์
มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี
ทรงพระราชสมภพเมื่อ 2277 สวรรคต 2325 รวม 48 พรรษา ศาลนี้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป
และทุกปีในระหว่างวันสิ้นปี และวันปีใหม่จะมีงานฉลองเป็นประเพณี
วัดสีตลาราม (วัดน้ำหัก) เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดตาก
ตั้งอยู่ที่บ้านจีน ตำบลระแหง วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านชุมชน มีถนนรอบวัด
ด้านหน้าติดกับถนนตากสิน เหตุที่ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่าวัดน้ำหัก เพราะในสมัยก่อนบริเวณด้านตะวันตกของวัดเป็นแม่น้ำปิง
กระแสน้ำไหลหักวน เนื่องจากเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำจากห้วยแม่ท้อซึ่งไหลแรงมากได้ไหลตัดกระแสน้ำของแม่น้ำปิงให้เบนหักมายังท่าน้ำหน้าวัดนี้
ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า วัดน้ำหัก ต่อมาได้มีการถมดินสองฝั่งแม่น้ำ
ร่องน้ำเปลี่ยนไป จึงไม่มีคุ้งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลวนให้เห็นอีก วัดสีตลารามเป็นวัดเก่า
มีบรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่มากมาย เป็นวัดที่มีกุฏิพระ และโบสถ์สร้างตามศิลปะยุโรป
แม้แต่อาคารเรือนไม้เก่าแก่ในวัดก็เช่นกัน ต่อมาพระอุโบสถถูกไฟไหม้จึงสร้างขึ้นใหม่
หน้าอุโบสถมีวิหารคต สร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
ตรอกบ้านจีน อยู่ใกล้วัดสีตลาราม เป็นย่านค้าขายของเก่าเมืองตาก
สมัยที่ลำน้ำแม่ปิงยังไม่ถูกถมเพื่อขยายฝั่ง และยังเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าต่างๆ
ซึ่งเป็นเครื่องอุปโภค บริโภค ที่ส่งมาจากปากน้ำโพขึ้นที่บ้านท่าจีน
ย่านนี้จึงคับคั่งด้วยผู้คนที่มาซื้อขายขนถ่ายสินค้า เช่นสำเพ็งในกรุงเทพฯ
แต่ปัจจุบันเงียบเหงา ไม่ใช่ย่านการค้าเหมือนแต่ก่อน เป็นเพียงหมู่บ้านที่มีเรือนไทยโบราณสร้างด้วยไม้สักทรงไทย
ซึ่งหาดูได้ยากในสมัยปัจจุบัน
วัดเขาถ้ำ ตำบลไม้งาม แยกขวาจากทางหลวงหมายเลข 1 ตรงกิโลเมตรที่
423 เข้าทางลูกรังประมาณ 700 เมตร ทางเข้าถ้ำเป็นเขาสูงประมาณ 70 เมตร
มีก้อนหินใหญ่ๆ สลับซับซ้อนกันน่าชม เมื่อขึ้นไปถึงยอด จะแลเห็นทิวทัศน์เมืองตากสวยงามมาก
สถานที่น่าสนใจ ตามเส้นทางตาก-แม่สอด
(ทางหลวงหมายเลข 105)
พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตั้งอยู่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก
ตามทางหลวงหมายเลข 105 ตาก-แม่สอด ห่างจากศาลากลางจังหวัดตาก 12 กิโลเมตร
เป็นสถานที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของภาคต่างๆ และชาวเขา 6 เผ่า ได้แก่ แม้ว
ลีซอ มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง และอีก้อ จัดเป็นนิทรรศการแสดงเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า
สถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งได้แก่ สวนผีเสื้อ จัดทำเป็นกรงขนาดใหญ่มีผีเสื้อพันธุ์ต่างๆ
มากมาย
อุทยานแห่งชาติลานสาง ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านลานสาง ตำบลแม่ท้อ
มีอาณาเขตทิศเหนือจดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 ทิศใต้จดอำเภอแม่สอด ตามแนวสันปันน้ำ
เทือกเขาถนนธงชัย และคลองห้วยทราย ทิศตะวันออกจดทางหลวงจังหวัดหมายเลข
1108 และทิศตะวันตกจดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 และเขตอำเภอแม่สอด ตามแนวสันปันน้ำ
เทือกเขาถนนธงชัย มีพื้นที่ประมาณ 104 ตารางกิโลเมตร หรือ 65,000 ไร่
ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2522 สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป
เป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันเกือบตลอดพื้นที่ ส่วนที่สูงที่สุดของอุทยานฯ
อยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ และลาดต่ำลงมาทางด้านทิศตะวันออก
มีลำธารไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำห้วยลานสาง ห้วยท่าเล่ย์ คลองห้วยทราย
ห้วยอุมยอม ป่าในเขตอุทยานมีทั้งป่าดงดิบ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง
ป่าเบญจพรรณ สลับกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ ตามตำนานโบราณเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชเยงใหม่ครั้งที่ 2 ได้ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหง
แขวงเมืองตาก มีชาวมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าจึงติดตามเข้ามา
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพไปขับไล่ และพลัดหลงกับกองทัพประจวบกับเป็นเวลากลางคืน
และสภาพพื้นที่เป็นป่าเขารกทึบ ยากแก่การติดตาม กองทัพไทยจึงหยุดพัก
ขณะที่พักกันอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและได้ยินเสียงม้าศึกร้อง
จึงรีบพากันไปยังจุดนั้น ก็พบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าอยู่กลางลานหิน
มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าหมอบอยู่โดยรอบ และขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี
จึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ลานสาง" และสถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน
บริเวณชั้นน้ำตกที่ 2 บริเวณลานหินจะมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ด้วย
สถานที่น่าสนใจในอุทยาน
ผาลาด อยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 เข้ามาตามถนนราดยางที่แยกไปที่ทำการประมาณ
1 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแผ่นหิน มีความลาดชันเล็กน้อย ขนาดกว้างประมาณ
25 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร เป็นท้องน้ำของกระแสน้ำของลำห้วยลานสางที่ไหลบ่าไปตามแผ่นหินแล้วรวมตัวไหลลงแอ่งเล็กๆ
น้ำตกลานเลี้ยงม้า (น้ำตกชั้นที่ 1) อยู่ตอนต้นของลำห้วยลานสางถัดขึ้นไปจากผาลาดประมาณ
200 เมตร มีลักษณะเป็นเนินหินเตี้ยๆ ตรงกลางเว้าเป็นช่องว่างกว้างประมาณ
6 เมตร กระแสน้ำที่ไหลมาตามลำห้วยลานสาง เมื่อไหลมาถึงเนินหินเตี้ยๆ
น้ำจะไหลเข้ามาตามช่องหิน น้ำจะถูกบีบจนมีระดับสูงขึ้นพุ่งผ่านยอดน้ำตกด้วยกำลังแรง
และไหลผ่านลงสู่พื้นน้ำเบื้องล่าง น้ำตกชั้นนี้มีความสูงประมาณ 10 เมตร
น้ำตกลานสาง (น้ำตกชั้นที่ 2) อยู่ตอนต้นของห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกลานเลี้ยงม้าประมาณ
2 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตามทางเดินระยะทาง 100 เมตร
เป็นน้ำตกชั้นที่มีผู้นิยมไปท่องเที่ยวมากที่สุด มีความสูงประมาณ 40
เมตร น้ำตกจะไหลพุ่งออกมาจากซอกเขา แล้วไหลลดหลั่นลงมา 3 ชั้น รวมตัวลงสู่แอ่งน้ำ
และไหลลงสู่น้ำตกลานเลี้ยงม้า
น้ำตกผาเงิน เป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยผาเงิน น้ำจากห้วยผาเงินจะไหลลงสู่ห้วยลานตรงบริเวณใกล้ๆ
กับน้ำตกลานสาง น้ำตกผาเงินมีความสูงประมาณ 19 เมตร น้ำตกแห่งนี้จะมีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝนและฤดูหนาว
ความงามของน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่ผาเงิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันเป็น
บางตอนก็มีหินงอกและหินย้อยที่มีความสวยงามมาก
น้ำตกผาผึ้ง (น้ำตกชั้นที่ 3) อยู่ตอนต้นของห้วยลานสาง สูงขึ้นไปตามซอกเขา
ห่างจากน้ำตกลานสางตามทางเดินประมาณ 600 เมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาเรียบๆ
ลาดชันประมาณ 70 องศา สูงประมาณ 30 เมตร น้ำห้วยลานสางเมื่อไหลมาถึงยอดน้ำตกจะไหลบ่าแผ่กระจายไปตามหน้าผาเป็นบริเวณกว้างลงสู่แอ่งน้ำตก
น้ำตกผาน้ำย้อย อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วยลานสาง
ห่างจากน้ำตกผาผึ้งประมาณ 100 เมตร มีลักษณะเป็นซอกผาแคบๆ จึงบีบลำห้วยลานสางให้เล็กลง
ทำให้กระแสน้ำไหลผ่านด้วยความเร็วพุ่งลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำตกนี้มีความสูงประมาณ
8 เมตร
น้ำตกผาเท (น้ำตกชั้นที่ 4) อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วยห่างจากน้ำตกผาผึ้งตามทางเดินประมาณ
1.4 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาชันดิ่ง สูงประมาณ 25 เมตร เมื่อน้ำห้วยลานสางที่ไหลมาตามซอกเขาความเร็วมาถึงยอดหน้าผา
ซึ้งเป็นท้องน้ำตกที่มีการลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว น้ำจะพุ่งพ้นยอดผาเป็นสายลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง
ด้วยความแรงจนน้ำกระจาย เป็นฝอย ทำให้เกิดเสียงดังครืนๆ ได้ยินแต่ไกล
การเดินทาง
จากจังหวัดตากใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 (ตาก-แม่สอด) จนถึงหลักกิโลเมตรที่
12-13 จะมีทางราดแยกซ้ายมือเข้าไปสู่เขตอุทยานฯ อีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
สถานที่พัก
บังกะโล 4 หลัง อัตราค่าที่พัก 150-600 บาท/คืน/หลัง และเต็นท์ขนาด 4
ที่นอน ราคา 40 บาท/คืน นักท่องเที่ยวเตรียมเต็นท์และอุปกรณ์ของเต็นท์ไปเอง
ทางอุทยานฯ จะจัดหาบริเวณที่กางเต็นท์ให้ คิดค่าบริการคนละ 5 บาท/คืน
ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่แผนกจองบ้านพัก กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้
โทร. 579-7223, 579-5734
ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก (ดอยมูเซอ) ตำบลพะวอ
อำเภอแม่สอด อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข
105 ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 25-26 จะมีทางลูกรังแยกซ้ายเลียบไปตามไหล่เขาอีก
3 กิโลเมตร เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า
800 ฟุต อาณาบริเวณของดอยมูเซอ เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 25-26 มีเนื้อที่ทั้งหมด
26,500 ไร่ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดอยมูเซอได้แก่ เผ่ามูเซอดำ แม้ว
และลีซอ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ล้วนแต่อพยพมาจากมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน
และเมืองปันในเขตรัฐฉานของพม่า รวมทั้งเขตเชียงตุงด้วย ภาษาที่พูดจึงมีทั้งภาษาจีน-ธิเบต-พม่า
ผสมกัน ไม่มีภาษาเขียน โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชายมักจะพูดได้หลายภาษากว่าผู้หญิง
อาชีพของชาวเขาเหล่านี้ได้แก่ การเพาะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าว ฝิ่น
มีการเลี้ยงสัตว์บ้าง เช่น หมู ไก่ ทุกปีชาวเขาแต่ละเผ่าจะจัดงานรับวันปีใหม่ขึ้น
โดยมีหมอผีประจำหมู่บ้านเป็นผู้กำหนดวัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
ชาวเขาแต่ละเผ่าอาจจะจัดงานนี้ไม่พร้อมกันก็ได้ แต่ช่วงที่มักจะจัดงานนี้ได้แก่
ช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนระยะเวลาของการจัดงานขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตที่ได้ในปีที่แล้วว่าดีหรือไม่
ถ้าผลผลิตดีก็อาจจัดงานได้หลายวัน แต่ถ้าผลผลิตไม่ดีก็จะจัดเพียงสามวันเท่านั้น
ชาวเขาเผ่าที่น่าสนใจ ได้แก่ มูเซอดำ ชาวเขาเผ่านี้นับถือผีกันมาก เช่น
ผีบรรพบุรุษ ผีเหย้าผีเรือน ผีประจำหมู่บ้าน ทั้งหญิงทั้งชายต่างมีอิสระในการเลือกคู่ครอง
ไม่มีการบังคับ แต่สำหรับคนที่แต่งงานแล้วจะทำตามอย่างหนุ่มสาวไม่ได้
มิฉะนั้นทั้งคู่จะต้องเสียค่าปรับให้แก่หมอผี ในงาน กินวอ หรืองานวันขึ้นปีใหม่นี้
มูเซอดำทุกคนจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ มีการจุดประทัด ยิงปืน (แก๊ป) เป่าแคน
ดีดซึงในวงเต้นรำ และเป็นการต้อนรับคนต่างถิ่น และชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เข้าไปดูงาน
กินวอ ด้วย การเต้ารำของเผ่ามูเซอเรียกว่า จะคึ จะเต้นกันตลอดทั้งวันทั้งคืน
ผลัดเปลี่ยนกันเต้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เสียงกระทืบเท้าขาดหายไปจนกว่างานจะเลิก
ในช่วงที่มีงานนี้ทุกคนจะหยุดทำงาน ถ้าใครทำจะถูกปรับ ยกเว้นงานกรีดยางฝิ่นเท่านั้น
และสิ่งที่ทุกคนต้องทำคือการออกเดินทางไปเยี่ยมญาติที่หมู่บ้านอื่น แม้ว่าจะไกลหรือใกล้ก็ตาม
งาน กินวอ นี้ จะมีการเลี้ยงผีและฆ่าหมูเลี้ยงผีกันทุกวัน จนกว่างานจะเลิก
สิ่งที่ห้ามอีกอย่างหนึ่งคือ การดื่มสุราในระหว่างที่มีงาน ยกเว้นคนต่างถิ่น
แต่ไม่ห้ามดื่มเหล้าข้าวโพด อีกเผ่าหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ เผ่าลีซอ บ้านของชาวเขาเผ่าลีซอจะปลูกติดดิน
ในบ้านจะแบ่งเป็นห้องๆ ผิดกับบ้านของชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่โล่งๆ ไม่กั้นห้องไว้เป็นสัดส่วน
ชาวเขาเผ่านี้นับถือผีเช่นเดียวกับเผ่าอื่นๆ ต้องให้หัวหน้าครอบครัวบูชาผีทุกวัน
ผีหลวงเป็นผีที่ชาวลีซอกลัวที่สุด จะปลูกศาลปักธงหางว่าวมีรั้วรอบขอบชิดไว้บูชาบนยอดดอยสูง
เชื่อกันว่า ผีหลวงเป็นผีที่ดุร้าย ถ้าทำให้โกรธจะบันดาลให้เกิดฟ้าแลบ
ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือไม่ก็ผลักก้อนหินใส่หมู่บ้าน ส่วนผีอีกอย่างหนึ่งคือ
ผีเมือง เชื่อว่าไม่ดุร้าย คอยปกป้องกันภัยให้ ดังนั้น ในงานวันขึ้นปีใหม่วันแรกของชาวเขาเผ่าลีซอ
จะเซ่นไหว้ผีหลวง ผีเมือง ผีบรรพบุรุษ ตอนบ่ายมีพิธีเต้นรำคล้ายๆ กับการเต้น
จะคึ ของเผ่ามูเซอดำ แต่นุ่มนวลกว่า ในงานวันขึ้นปีใหม่มักจะเป็นงานที่หนุ่มสาวมีโอกาสได้เลือกคู่กันไปโดยปริยาย
แต่ถ้าปีใดเกิดสุริยคราสแล้วถือว่าเป็นนิมิตร้าย งานแต่งงานที่จะจัดขึ้นจะต้องยกเลิกทั้งหมด
ท่านที่ประสงค์จะเดินทางไปชมชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาในศูนย์พัฒนาฯ
นี้ ถ้าต้องการพักแรมรวมทั้งชมการแสดงของชาวเขาแล้ว ควรติดต่อไปที่หัวหน้าศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา
ตู้ ปณ. 2 อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000
สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา
เป็นสถานที่ทดลองวิจัยเมล็ดพันธุ์กาแฟ ชา ผลไม้ ไม้ ผักต่างๆ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ถึงเดือนธันวาคม นักท่องเที่ยวจะได้ชมดอกบัวตองบนเทือกเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีทดลองพืชสวน
ซึ่งจะบานสะพรั่งเต็มที่
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ท้อ
ตำบลพะวอ เขตอำเภอแม่สอด และอำเภอเมือง จังหวัดตาก มีเนื้อที่ 149 ตารางกิโลเมตร
หรือ 93,125 ไร่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน มีภูเขาสลับซับซ้อน
ทิวทัศน์สวยงาม จุดเด่นที่สำคัญก็คือ ต้นกระบากใหญ่ซึ่งจัดว่าเป็นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ผู้ค้นพบคือ นายสวาม ณ น่าน ช่างระดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก พื้นที่ป่าแห่งนี้ในอดีตเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของไทยและพม่า
เช่นในปี พ.ศ. 2305 พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา
ในระหว่างยกทัพกลับ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในป่านี้ ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
พื้นที่แห่งนี้อยู่ในเขตของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ท้อ ป่าห้วยตาก ฝั่งขวาและป่าละเมาะ
สภาพป่าสมบูรณ์ อากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส
มีธรรมชาติงดงาม กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ป่าในเขตอุทยานนี้มีหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา
ป่าสนเขา ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง และป่าไม้เบญจพรรณ
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
ต้นกระบากใหญ่
มีขนาดโตวัดโดยรอบได้ 16.10 เมตร หรือราว 14 คนโอบ สูงประมาณ 50
เมตร เป็นต้นกระบากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ
ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นทางรถยนต์ 3 กิโลเมตร และเป็นทางเดินเท้าลงเขาสูงชันอีกประมาณ
1 กิโลเมตร
สะพานหินธรรมชาติ
มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่เชื่อมหน้าผาสองแห่งเข้าด้วยกัน มีความกว้างและความสูงประมาณ
25 เมตร เบื้องล่างมีลำธารไหลผ่าน ถัดออกไปประมาณ 7 X 50 เมตร จะมีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง
ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ถึงกม.
ที่ 35 แยกเข้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้ตาก ไปตามทางลูกรัง ระยะทาง 6 กิโลเมตร
แล้วเดินเท้าอีก 2 กิโลเมตร
น้ำตกแม่ย่าป้า
เป็นน้ำตกขนาดกลางที่เกิดจากลำห้วยแม่ย่าป้า อยู่ในป่าทึบ มีน้ำไหลลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นตามร่องห้วย
แล้วไหลลงสู่ลำห้วยแม่ท้อ การเดินทางยังไม่สะดวกนัก นักท่องเที่ยวประสงค์จะเดินป่าควรติดต่อขอคนนำทางกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ
ก่อน
สถานที่พักแรมในอุทยานฯ
ทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 4 หลัง ราคาหลังละ
500 บาท มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ (พักได้ 6 คน) บ้าน อโนทัย มี 4 ห้องนอน
2 ห้องน้ำ ราคา 1,000 บาท พักได้ 12 คน หากต้องการให้ทางอุทยานฯ บริการเกี่ยวกับอาหารต้องติดต่อก่อนล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังมีค่ายพักแรมที่เล่นแคมป์ไฟ นักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์ไปเอง
ทางอุทยานฯ ได้จัดสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้ให้ ติดต่อจองที่พักล่วงหน้าได้ที่
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตู้ ปณ. 10 อ. เมือง จังหวัดตาก 63000
หรือติดต่อที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
ร้านขายผลิตผลของชาวไทยภูเขา ตั้งอยู่ริมเส้นทางตาก-แม่สอด
(ทางหลวงหมายเลข 105) บริเวณกิโลเมตรที่ 29 ผลิตผลที่ชาวไทยภูเขานำมาขายได้แก่พืชผลต่างๆ
ที่เพาะปลูกได้จะเริ่มขายตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย
ศาลเจ้าพ่อพะวอ ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ บนถนนสายตาก-แม่สอด
บริเวณกิโลเมตรที่ 62-63 ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองตากและแม่สอดมาก
เล่ากันว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง สมเด็จพระนเรศวรทรงแต่งตั้งให้เป็นนายด่านอยู่ที่ด่านแม่ละเมา
เพื่อคอยป้องกันข้าศึกมิให้ข้ามเขามาได้ เดิมทีศาลเจ้าพ่อพะวออยู่อีกด้านหนึ่งของเขา
แต่เมื่อตัดถนนไปทางใหม่จึงได้มาสร้างศาลขึ้นใหม่ มีผู้เล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก
ถ้าใครไปล่าสัตว์ในบริเวณเขาพะวอแล้วมักจะเกิดเหตุต่างๆ เช่น รถเสีย
เจ็บป่วย หรือหลงทาง และเพราะเหตุที่เจ้าพ่อพะวอเป็นนักรบ จึงชอบเสียงปืน
ผู้ที่เดินทางผ่านนิยมยิงปืนถวายท่านเป็นการแสดงความเคารพ หรือมิฉะนั้นก็จะจุดประทัด
หรือบีบแตรถวาย
|