เนินพิศวง มีลักษณะเป็นทางขึ้นเนิน อยู่บนถนนสายตาก-แม่สอด
ตรงหลักกิโลเมตรที่ 68 เป็นเรื่องแปลกคือเมื่อนำรถไปจอดไว้ตรงทางขึ้นเนินโดยไม่ได้ติดเครื่อง
รถจะไหลขึ้นเนินไปเอง มีนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ถึงสาเหตุนี้พบว่า เกิดจากเป็นภาพลวงตา
เนื่องจากได้มีการวัดระดับความสูงของเนินลูกนี้แล้วปรากฏว่า ช่วงที่มองเห็นเป็นที่สูงนั้น
มีระดับความสูงต่ำกว่าช่วงที่เห็นเป็นทางขึ้นเนิน ดังนั้นรถที่เรามองเห็นไหลขึ้นนั้นที่จริงไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า
แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถบอกได้ว่าเหตุใดจึงมองเห็นเป็นภาพลวงตาเช่นนั้นได้
ศาลเจ้าพ่อขุนสามชน อยู่ทางขวามือริมเส้นทางสายตาก-แม่สอด
ตรงกิโลเมตรที่ 71-72 เป็นศาลเจ้าริมทางลักษณะเดียวกับศาลเจ้าพ่อพะวอ
ศาลนี้เพิ่งสร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อปลายปี 2523 เหตุที่สร้างศาลนี้เล่ากันว่ามีคหบดีผู้หนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาตมาช้านานแล้ว
ได้ฝันว่ามีผู้มาบอกให้สร้างศาลเจ้าพ่อขุนสามชนขึ้นตรงบริเวณที่เป็นศาลปัจจุบัน
คหบดีผู้นั้นจึงสร้างศาลขึ้นถวายเรียกว่าศาลเจ้าพ่อขุนสามชน นับแต่นั้นมาอาการของคหบดีผู้นั้นก็เป็นปกติ
ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือศาลนี้มาก
ทวีชัยแลนด์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแบบธรรมชาติ อยู่ริมถนนสายตาก-แม่สอด
บริเวณกิโลเมตรที่ 78 ภายในเป็นสวนไม้ดอกไม้ผลที่ร่มรื่น มีกรงเลี้ยงสัตว์ป่านานาชนิด
เหมาะที่จะเป็นสถานที่พักผ่อนปิกนิก ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 15 บาท เด็ก 10
บาท ติดต่อจองที่พักได้โดยตรงที่ บริษัท ทวีชัยแลนด์ โทร. (055) 531287,
531569
ไร่สรการฤทธิรณ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแบบธรรมชาติ ทางเข้าอยู่ใกล้กับทวีชัยแลนด์
บริเวณที่ตั้งของไร่อยู่ด้านหลังของทวีชัยแลนด์ ทิวทัศน์โดยรอบ ประกอบด้วยภูเขาลูกเล็กใหญ่สลับกันไปสวยงาม
ภายในมีสวนดอกไม้ มีบ้านพักหลายหลังไว้บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อ
โทร. (055) 531596
อำเภอแม่สอด อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 86 กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอมาตั้งแต่
พ.ศ. 2441 เดิมชื่อพระหน่อเก่ ตัวอำเภออยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาในฝั่งประเทศไทย
อีกส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาฝั่งประเทศพม่า อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ประมาณ
1,986 ตารางกิโลเมตร ประชากรมีทั้งชาวเขาและคนที่อพยพจากอำเภอเมืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่
รวมทั้งชาวพม่าที่มีบุตรภรรยาเป็นคนไทยด้วย ประวัติความเป็นมาของอำเภอแม่สอดนั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัด
จะเป็นเมืองฉอดของขุนสามชนที่เคยยกทัพไปตีกรุงสุโขทัยหรือไม่ ยังไม่มีผู้ใดพิสูจน์
เมื่อดูตามสภาพบ้านเมืองของอำเภอแม่สอดนั้น ไม่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในยุคของสุโขทัยได้เลย
ฉะนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่าไม่ใช่เมืองเดียวกัน ขณะนี้ได้มีนักโบราณคดีพบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าทึบ
ท้องที่อำเภอแม่ระมาด อาจจะเป็นเมืองฉอดตามศิลาจารึกกรุงสุโขทัยก็ได้
วัดมณีไพรสณฑ์ อยู่ในตลาดแม่สอด วัดนี้มีเจดีย์วิหารสัมพุทเธ
ซึ่งมีลักษณะแปลกคือ บนองค์เจดีย์มีเจดีย์เล็กๆ ล้อมรอบถึง 233 องค์
และมีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ถึง 512,028 องค์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า
200 ปี ที่บริเวณหน้าบันและหลังคามีลายไม้ฉลุสวยงาม และบริเวณโดยรอบวัดมีซุ้มและศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ
เช่น หลวงพ่อสังกัจจาย พระพุทธรูปปูนปั้นปางพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
วัดชุมพลคีรี ตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่สอด เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า
200 ปี ภายในประดิษฐานเจดีย์สร้างใหม่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า
ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ส่วนในวิหารเป็นที่เก็บกลองโบราณอายุกว่า
200 ปี
แม่น้ำเมย (พม่าเรียกแม่น้ำต่องยิน) จากตัวอำเภอแม่สอดไปทางตะวันตกตามทางหลวงหมายเลข
105 ประมาณ 6 กิโลเมตร สุดเขตแดนไทยจะถึงแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนไทยกับพม่า
แม่น้ำสายนี้ไหลขึ้นมิได้ไหลล่องเช่นแม่น้ำโดยทั่วไป แม่น้ำเมยมีต้นน้ำอยู่ที่ตำบลพบพระ
อำเภอแม่สอด แล้วไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด ท่าสองยาง ตลอดถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนบรรจบกับแม่น้ำสาละวินแล้วไหลเข้าในเขตพม่าลงอ่าวมะตะบัน
น้ำในลำแม่น้ำเมยจะมีน้อยมากในฤดูร้อน
ตลาดริมเมย เป็นชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย ตรงข้ามกับอำเภอเมียวดีของสหภาพพม่า
เป็นตลาดค้าขายสินค้าพื้นเมืองมากมายทั้งของไทยและพม่า เช่น หน่อไม้แห้ง
ปลาแห้ง ปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม ถั่ว เครื่องหนัง ผ้าซาติน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดการค้าอัญมณี
เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีจากพม่า นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ประสงค์จะข้ามไปยังประเทศพม่าจะต้องแลกเงินจ๊าดตรงด่านตรวจ
เพื่อเป็นค่าผ่านแดน และค่าเรือทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ทั้งนี้คนรับแลกเงินจะจัดเงินไว้เป็นชุดๆ
เพื่อความสะดวก เวลาที่เปิดให้ข้ามไปยังประเทศพม่า เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา
08.00-17.00 น.
วัดไทยวัฒนาราม อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่สอดประมาณ 3-4 กิโลเมตร
ตามทางไปตลาดริมเมย วัดนี้แต่เดิมเรียกว่า วัดแม่ตาวเงี้ยว หรือวัดไทยใหญ่
ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.ท่าสายลวด อ. แม่สอด จ. ตาก เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิการมหายานของชาวไทยใหญ่
ประเพณีศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า วัดนี้เริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณ
พ.ศ. 2410 โดย นายมุ้ง (เป็นชาวพม่ารัฐฉาน ที่อพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่
อ. แม่สอด) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ตาว ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า
หมื่นอาจคำหาญ และพวก เป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้าง ใช้ชื่อว่า วัดแม่ตาวเงี้ยว
หรือวัดไทยใหญ่ จนถึง พ.ศ. 2500 ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วัดแม่ตาวเงี้ยว
เป็นวัดพระพุทธศาสนาในสังกัดกรมศาสนา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดไทยวัฒนาราม
ในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากพระพุทธมหามุนีอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมัณฑเลย์
ประเทศพม่า นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาว จ. ตาก ศรัทธาเลื่อมใสกันมาก
นอกจากนี้มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ พระพุทธรูปหินอ่อน วิหารเจดีย์สีชมพู
และศาลาการเปรียญลายไม้ฉลุรูปแบบพม่า
คอกช้างเผือก ตั้งอยู่เขตบ้านท่าอาจ ต. ท่าสายลวด อ. แม่สอด
การเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 105 ก่อนถึงตลาดริมเมย ประมาณ 1 กม. เลี้ยวขวาผ่านหน้าวัดไทยวัฒนารามตามทางราดยางประมาณ
2 กม. จะพบทางแยกซ้ายมือประมาณ 100 เมตร จะพบโบราณสถานคอกช้างเผือก หรือเพนียดช้าง
ทำเป็นกำแพงก่อด้วยอิฐมอญ มีความสูงประมาณ 1 เมตรเศษ กว้างประมาณ 25
เมตร ยาวประมาณ 80 เมตร ปากทางเข้าของเพนียดอยู่ติดเชิงเขาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
กำแพงเพนียดที่ปิดกั้นคล้ายรูปขวดหมึก หันหลังให้กับแม่น้ำเมย ด้านตะวันตก
ประวัติตามตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พงศาวดารกล่าวว่า มะกะโท (คนเลี้ยงช้าง) เป็นชาวมอญ ได้เข้ารับราชการเป็นขุนวัง
ได้ลักพาตัวพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงหนีไปอยู่กรุงหงสาวดี ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า
พระเจ้าฟ้ารั่ว เมืองตากเป็นชานเมืองของกรุงสุโขทัย ได้มีช้างเผือกอาละวาด
พ่อขุนรามคำแหงทรงทราบ พระองค์ทรงประกอบพิธีเสี่ยงทายและทรงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่า
หากช้างเผือกเชือกนี้เป็นช้างคู่บุญบารมีกษัตริย์นครใด ก็ขอให้บ่ายหน้าไปทางทิศนั้น
สิ้นคำอธิษฐาน ช้างเผือกเปล่งเสียงร้องกึกก้องพร้อมบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตก
พ่อขุนรามคำแหงทราบทันทีว่าเป็นช้างเผือกคู่บุญบารมีของพระเจ้าฟ้ารั่ว
จึงให้ทหารนำสาสน์ไปแจ้งว่าจะนำช้างมามอบให้ ทหารที่ติดตามช้างเผือกมาจนถึงบริเวณเชิงเขาจึงนำเพนียดล้อมเอาไว้
และได้ทำพิธีมอบช้างให้กับพระเจ้าฟ้ารั่ว ณ ที่แห่งนี้
พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่ ตั้งอยู่เขตบ้านวังตะเคียน การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับคอกช้างเผือก
ผ่านหมู่บ้านท่าอาจ และหมู่บ้านวังตะเคียนไปก็จะพบทางแยกขวามือที่ศาลาพักร้อน
มีป้ายบอก พระธาตุหินกิ่ว 3 กม. พระธาตุหรือเจดีย์หินกิ่วเป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ
คือก้อนหินมหึมาที่มีความสวยน่าทึ่งตั้งอยู่บนชะง่อนผา เป็นหินที่กิ่วคอดเหมือนจะขาดออกจากกันบนหินนั้น
มีเจดีย์ทรงมอญสร้างไว้มีขนาดพอดีกับหิน นับเป็นสิ่งที่ปรากฏการณ์จากธรรมชาติและศักดิ์สิทธิ์
ชาวจังหวัดตากและใกล้เคียงหลั่งไหลมากราบไหว้เสมอ เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆ
ปี จะมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุหินกิ่ว ชาวบ้านจะเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า
เจดีย์หินพระอินทร์แขวน
สถานที่น่าสนใจ ตามเส้นทางสายแม่สอด-พบพระ-อุ้งผาง
(ทางหลวงหมายเลข 1090)
นักท่องเที่ยวที่ขับรถไปตามเส้นทางสายแม่สอด-พบพระ-อุ้มผาง จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
สภาพรถควรเป็นรถที่เครื่องยนต์และระบบเบรคดีมาก เพราะเส้นทางนี้เป็นทางขึ้นเขาตลอด
มีระยะทางรวม 164 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
น้ำตกธารารักษ์ (น้ำตกเจดีย์โคะ หรือน้ำตกผาชัน) อยู่ในเขตบ้านเจดีย์โคะ
จากอำเภอแม่สอดใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 ถึงกิโลเมตรที่ 26 จะมองเห็นป้ายชื่อน้ำตกธารารักษ์อยู่ปากทางเข้า
ถนนเข้าสู่น้ำตกเป็นทางลูกรังระยะทาง 700 เมตร ใช้ได้กันทุกฤดู บริเวณต้นน้ำตกมีลานจอดรถกว้างขวาง
น้ำตกนางครวญ เดินทางไปตามทางหลวงสาย 1090 ถึงกิโลเมตรที่
26 มีทางแยกขวามือเข้าอำเภอพบพระตามทางหลวงหมายเลข 1206 น้ำตกนางครวญอยู่ริมสะพานคอนกรีตด้านขวามือ
บริเวณกิโลเมตรที่ 12 ก่อนถึงอำเภอพบพระเล็กน้อย เดิมชื่อน้ำตกเพอะพะ
ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นน้ำตกพบพระ และเปลี่ยนเป็นชื่อน้ำตกนางครวญ เป็นน้ำตกขนาดกลางลดหลั่นลงไปเป็นชั้นเล็กๆ
ท่ามกลางป่าเบื้องล่างกระแสน้ำไหลแรง มีต้นน้ำมาจากลำคลองเล็กๆ ริมท้องนาข้างทาง
ทางการได้ตัดถนนผ่านตัวน้ำตก จึงแลดูเป็นน้ำตกเล็กๆ ริมถนน แต่ก็เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวควรแวะพักก่อนเดินทางเข้าไปชมชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในเขตอำเภอพบพระ
อำเภอพบพระ เป็นอำเภอที่มีชายแดนติดกับประเทศพม่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก
การเดินทางไปอำเภอพบพระให้ใช้เส้นทางสายตาก-แม่สอด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข
105 ตรงกิโลเมตรที่ 75 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1090 ถึงกิโลเมตรที่
26 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1206 อีก 13 กิโลเมตร ถึงอำเภอพบพระ
รวมระยะทางจากตัวจังหวัด 135 กิโลเมตร ก่อนที่กรมทางหลวงจะตัดถนนราดยางสายแม่สอด-พบพระ
(ทางหลวงหมายเลข 1206) นั้น การคมนาคมระหว่างสองอำเภอนี้ลำบากมาก เพราะพื้นที่ของอำเภอพบพระเป็นพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขา
รับลมมรสุมจากอ่างเมาะตะมะ ดังนั้น พื้นที่นี้จึงมีฝนตกชุกที่สุดในเขตภาคเหนือ
ราว 2,300-3,000 มิลลิเมตร เส้นทางการคมนาคมจึงมีแต่โคลนตม ต้องเดินลุยโคลนกัน
ชาวบ้านจึงเรียกว่าขี้เปรอะเพอะพะ แปลว่าขี้โคลนเปรอะเลอะเทอะ หมายความว่า
ถ้าใครผ่านไปแถบนี้ขาแข้งจะมีแต่ขี้เปอะเพอะพะ จึงเรียกเขตนี้ว่าบ้านเพอะพะ
แล้วจึงเปลี่ยนเป็นพบพระ
น้ำตกพาเจริญ อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1090 บริเวณกิโลเมตรที่
36-37 มีทางลูกรังแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 700 เมตร จะถึงตัวน้ำตกซึ่งอยู่ในเขตของหมู่บ้านพาเจริญ
น้ำตกนี้จึงได้ชื่อว่า น้ำตกพาเจริญ ไหลลดหลั่นเป็นชั้นๆ นับรวมได้ถึง
97 ชั้น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในละแวกนั้น บริเวณน้ำตกมีลานจอดรถกว้างขวาง
น้ำตกป่าหวาย ไปตามทางหลวงหมายเลข 1090 (แม่สอด-อุ้งผาง)
ประมาณกิโลเมตรที่ 43 แยกซ้ายไปตามถนนลูกรังประมาณ 16 กิโลเมตร ทางคดเคี้ยว
บริเวณธารน้ำตกเต็มไปด้วยป่าหวาย จึงได้ชื่อว่าน้ำตกป่าหวาย การชมน้ำตกต้องเดินจากบริเวณล่างสุดฝ่ากระแสน้ำขึ้นไปชมน้ำตกชั้นบนเป็นขั้นๆ
บริเวณชั้นบนสุดของน้ำตก เดินต่อไปอีกประมาณ 30 เมตร จะพบปล่องภูเขาอันใหญ่โตซึ่งมีน้ำไหลลงสู่ปล่องดังกล่าวแล้วหายไปในบริเวณใต้ภูเขา
รถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณล่างสุดของตัวน้ำตกได้ แต่ควรใช้รถยนต์สภาพดี
เพราะสภาพถนนขรุขระมาก
สถานที่น่าสนใจ
ในเขตอำเภออุ้มผาง
อำเภออุ้มผาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 249 กิโลเมตร
มีชายแดนติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า อำเภออุ้มผางมีพื้นที่กว้างใหญ่และเคยเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน
ต่อมาจึงมีคนไทยภาคเหนืออพยพเข้ามามากขึ้น เดิมอุ้มผางเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นกับจังหวัดอุทัยธานี
เป็นจุดตรวจชาวพม่า ซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ได้รับการประกาศเป็นอำเภออุ้มผาง
ขึ้นกับจังหวัดตาก ในปี พ.ศ. 2502 คำว่า อุ้มผาง เพี้ยนมาจากคำภาษากะเหรี่ยงว่า
อุ้มผะ แปลว่า การแสดงหนังสือเดินทางของผู้เข้าออกไทย-พม่า การเดินทางไปอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางตาก-แม่สอด
(ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105) และเส้นทางแม่สอด-อุ้มผาง (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข
1090) ทางราดยางตลอดสาย เส้นทางช่องแม่สอด-อุ้มผาง นักเดินทางควรขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
และรถที่ใช้ควรมีสภาพดี เพราะเป็นเส้นทางตัดผ่านเทือกเขา ถนนมีความคดโค้งมาก
มีจุดแวะพักที่บริเวณ กม. 84 มีร้ายขายอาหารและเครื่องดื่ม ผู้เมารถควรรับประทานยาแก้เมารถไว้ล่วงหน้า
ดอยหัวหมด อยู่ในเขตบ้านอุ้มผาง เป็นภูเขาที่เป็นแนวยาวหลายลูกติดต่อกัน
บนภูเขานี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น แต่จะมีต้นหญ้าเตี้ยๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป
รวมทั้งโขดหินเป็นระยะ มองจากด้านล่างขึ้นไปจะเห็นเหมือนพรมสีเขียวแซมด้วยโขดหินและต้นไม้และดอกไม้เป็นแห่งๆ
หากขึ้นไปบนยอดเขาจะมองเห็นบ้านอุ้มผางและทิวเขาสลับซับซ้อนกันโดยรอบ
ทิวทัศน์สวยงามมาก เหมาะที่จะดูพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกในยามเช้า
และดูพระอาทิตย์ตกในยามเย็น การเดินทางไปดอยหัวหมดให้ใช้เส้นทางอุ้มผาง-บ้านปะละทะ
ประมาณ 10 กิโลเมตร มีจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ดังกล่าวได้สวยงาม 2 จุด
คือ 1. บริเวณ กม. ที่ 9 โดยต้องเดินขึ้นภูเขาอีกประมาณ 20 นาที 2. บริเวณ
กม.ที่ 10 มีทางแยกซ้ายไปลานจอดรถและเดินเท้าอีก 5 นาที ควรไปถึงดอยหัวหมดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นราว
05.00-06.00 น. อากาศบนดอยค่อนข้างเย็น มีลมพัดอยู่ตลอดเวลา
ถ้ำตะโค๊ะบิ อยู่ในเขตบ้านแม่กลองใหม่ ออกจากอุ้มผางใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-แม่กลองใหม่
พอถึง กม. 7 มีทางเล็กๆ เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กม. ถึงบริเวณหน้าถ้ำ
ลักษณะถ้ำมีทางเดินลงไปเป็นชั้นๆ ข้างในจะมีทางแยกหลายทางเป็นถ้ำขนาดใหญ่
เพดานถ้ำสูง ทางเดินกว้างขวางไม่มีกลิ่นอับ อากาศโปร่ง มีหินงอกหินย้อยสวยงาม
ความลึกของถ้ำประมาณ 3 กิโลเมตร
หมู่บ้านกะเหรี่ยง ปะละทะ จากอุ้มผางเดินทางไปทางทิศใต้ตามเส้นทางอุ้มผาง-ปะละทะ
ประมาณ 27 กม. (เส้นทางเดียวกับไปดอยหัวหมด) จะถึงหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง
ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนา มีไฟฟ้าใช้ มีสถานีอนามัยและโรงเรียน
ชาวกะเหรี่ยงที่นี่ยังนิยมการแต่งกายแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง มีการจัดชุมชนเป็นระเบียบ
แต่ละบ้านจะมีหูกทอผ้า และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู และไก่ สำหรับใช้เป็นอาหาร
น้ำตกทีลอซู เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันมาก
น้ำไหลแรงตลอดปี อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตประมาณ
3 กิโลเมตร เนื่องจากการเดินทางไปชมน้ำตกแต่ละชั้นบางครั้งจะต้องเดินผ่านสายน้ำตก
จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ การเดินทางไปน้ำตกทีลอซู สามารถทำได้ทั้งทางรถยนต์และโดยการล่องแพ
เส้นทางรถยนต์นั้นให้ใช้เส้นทาง อุ้มผาง-แม่กลองใหม่-แม่จัน ถึงกิโลเมตรที่
20 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางอีกประมาณ 26 กิโลเมตร
ทางช่วงนี้เป็นทางลำลอง จะต้องใช้รถกระบะ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อ เท่านั้น
และในฤดูฝนรถอาจเข้าไม่ได้ หรืออาจติดต่อบริษัททัวร์ที่จัดล่องแพใน อ.
อุ้มผาง ซึ่งมักจะรวมโปรแกรมเที่ยวน้ำตกทีลอซูอยู่ด้วย
การล่องแพในอำเภออุ้มผาง
การล่องแพในอำเภออุ้มผางกำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
เนื่องจากเส้นทางล่องแพนี้ ผ่านเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางที่ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์มาก
ผ่านธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาไม่ซ้ำกันไปตลอดระยะทาง 20 กิโลเมตร เช่น
ถ้ำผาโหว่ น้ำตกทีลอจ่อ ธารน้ำร้อน แก่งตะโคะบิ๊ ผาผึ้ง ถ้ำค้างคาว วังน้ำวน
น้ำตกมู่ทลู่ เป็นต้น การล่องแพจะเริ่มจากอำเภออุ้มผางไปตามลำห้วยแม่กลองจนถึงท่าทราย
หยุดพักแรม 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางจากท่าทราย โดยรถกระบะอีก 30
นาที ไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง แล้วเดินต่อไปยังน้ำตกทีลอซูอีก
3 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการล่องแพ ช่วงฤดูการที่เหมาะสมในการล่องแพคือ
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนพฤษภาคมของทุกปี การล่องแพช่วงฤดูฝนจะมีอันตรายมาก
เนื่องจากมีกระแสน้ำเชี่ยวและระดับน้ำลึก ทำให้การบังคับแพลำบาก จึงไม่ควรล่องแพหน้าฝนอย่างเด็ดขาด
การเตรียมตัวสำหรับการล่องแพ แม้ว่าการล่องแพตามฤดูกาลที่แนะนำจะไม่มีอันตรายจากธรรมชาติ
เนื่องจากกระแสน้ำไม่เชี่ยวและระดับน้ำไม่ลึก อีกทั้งลำห้วยแม่กลองไม่กว้างมาก
ฝั่งทั้งสองอยู่ห่างจากแพข้างละ 8-10 เมตรเท่านั้น นักท่องเที่ยวก็ควรจะให้ความระมัดระวังในขณะล่องแพ
และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการล่องแพที่สนุกสนานและปลอดภัย ดังนี้ - สวมเสื้อผ้า
และรองเท้าแบบสบายๆ ไม่ควรหนา และรัดจน เกินไป - สวมหมวกกันแดด - ควรมีเสื้อชูชีพโดยเฉพาะคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น
- เตรียมเชือกมนิลายาวประมาณ 30-50 เมตร เพื่อใช้ใน กรณีฉุกเฉิน - กระเป๋ากันน้ำหรือถุงพลาสติกสำหรับใส่กล้องถ่ายรูป
- ถุงสำหรับใส่เศษขยะเพื่อนำมาทิ้งบนบก การติดต่อล่องแพสามารถติดต่อได้กับสถานที่พักใน
อ. อุ้มผาง หรืออาจติดต่อผ่านบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการล่องแพ
จะเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนคนและระยะเวลาการล่องแพ
สถานที่น่าสนใจ เส้นทางแม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง
(ทางหลวงหมายเลข 105)
น้ำตกแม่ภาษา อยู่ที่ตำบลแม่ภาษา แยกขวาจากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด
(ทางหลวงหมายเลข 105) ตรงกิโลเมตรที่ 13-14 มีป้ายทางเข้าเขียนว่า บ้านแม่กื๊ดสามท่า
จากปากทางเข้าทางลูกรังประมาณ 4 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าถนนดินอีกประมาณ
1.5 กิโลเมตร เป็นทางแคบ ขรุขระสองข้างทางเป็นไม้ล้มลุกขึ้นสูง น้ำตกแม่ภาษาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่ทางเดินขึ้นไปบนเขาสูง
มีถ้ำและธารน้ำกว้างประมาณ 2 เมตร เป็นทางจากปากถ้ำถึงน้ำตก ในฤดูฝนมีน้ำมาก
แต่ในฤดูแล้งไม่มีน้ำเลย ทางเข้าน้ำตกนี้ยังไม่ดี และในบริเวณน้ำตกยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
บ่อน้ำร้อนแม่ภาษา อยู่ที่ตำบลแม่ภาษาเช่นกัน แยกขวาจากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด
ตรงกิโลเมตรที่ 13-14 เข้าทางลูกรัง 8 กิโลเมตร ผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน
บ่อน้ำร้อนนี้อยู่ในตัวหมู่บ้าน มีบ่อน้ำร้อนอยู่ 2 บ่อ บ่อหนึ่งมีความกว้างประมาณ
2 เมตร อีกบ่อหนึ่งกว้างประมาณ 1 เมตร นอกจากนี้ยังมีธารน้ำร้อนเป็นสายมาพบกับธารน้ำเย็น
เมื่อผ่านเข้าไปในบริเวณหมู่บ้านจะได้กลิ่นกำมะถันกรุ่นอยู่ทั่วไปและมีไอน้ำจางๆ
ลอยขึ้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย เมื่อเข้าไปดูที่ปากบ่อจะเห็นฟองและการเดือดของน้ำได้ชัดเจน
อุณหภูมิของน้ำสูงพอสมควร บริเวณหมู่บ้านมีธรรมชาติที่สวยงามล้อมรอบด้วยภูเขาสูงและไร่นาของชาวบ้านแถบนั้นเขียวชอุ่มไปทั่ว
บ้านไม้สัก ตั้งอยู่บริเวณ กม. ที่ 28-29 ริมถนนด้านขวามือเป็นบ้าน
2 ชั้น ที่สร้างด้วยไม้สักขนาดใหญ่ทั้งหลัง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและพักค้างคืนได้
อำเภอแม่ระมาด เป็นอำเภอชายแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่าอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก
อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 120 กิโลเมตร การเดินทางไปอำเภอแม่ระมาด ใช้เส้นทาง
ตาก-แม่สอด-แม่ระมาด หรือเส้นทางตาก-บ้านแม่ตาก-แม่ระมาด ก็ได้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา
สันนิษฐานว่าเดิมอำเภอแม่ระมาดเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยง แต่ต่อมามีชาวไทยล้านนาอพยพไปอยู่เป็นจำนวนมากจนยกฐานะเป็นอำเภอแม่ระมาด
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2494
วัดดอนแก้ว ตั้งอยู่หลังที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด มีพระพุทธรูปแกะสลักหินอ่อน
เป็นปฏิมากรรมของพม่า ได้แกะสลักขึ้นพร้อมกัน 3 องค์ องค์ที่ 1 ประดิษฐานที่ประเทศปากีสถาน
องค์ที่ 2 ประดิษฐานที่ประเทศอินเดีย และองค์ที่ 3 ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง
ประดิษฐานในวิหารของวัดดอนแก้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สวยสดงดงามหาดูได้ยาก
มีขนาดหน้าตักกว้าง 50 นิ้ว สูง 63 นิ้ว
ล่องแพแม่ตื่น
ลำน้ำแม่ตื่น เป็นลำน้ำสาขาที่มีขนาดใหญ่ของลำน้ำแม่ปิง ซึ่งไหลลงบรรจบกับลำน้ำปิงบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล
การล่องแพจะเริ่มต้นที่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ในเขตอำเภอแม่ระมาด
ซึ่งอยู่แยกจากทางสายแม่ระมาด-บ้านตาก ประมาณ กม. ที่ 30 ระยะทางประมาณ
12 กม. ล่องไปตามลำน้ำแม่ตื่น ผ่านกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น
ซึ่งนอกจากจะได้ชมความงามตามธรรมชาติของป่าไม้ และนกนานาพันธุ์แล้ว ยังจะได้ผจญภัยกับการล่องแพผ่านเกาะแก่งตามลำน้ำแม่ตื่น
อีกทั้งการพักผ่อนและสัมผัสชีวิตของชาวแพเหนือทะเลสาบแม่ปิง
อำเภอท่าสองยาง เป็นอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า มีรูปร่างเรียวยาวทอดตามลำน้ำเมย
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นราบ
ประกอบอาชีพทำไร่ ระยะทางจากแม่สอด-ท่าสองยาง ราว 84 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองตากถึง
อ.ท่าสองยาง ราว 170 กิโลเมตร สภาพเส้นทางเป็นทางราดยาง
ถ้ำแม่อุสุ อยู่ในเขตวนอุทยานถ้ำแม่อุสุ หมู่ 4 บ้านมิโนะโคะ
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าสองยางไปทางเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร บนเส้นทางสายแม่สอด-แม่สะเรียง
(ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 105) เลยกิโลเมตรที่ 94 เล็กน้อย จะมีทางแยกซ้ายมือ
เข้าถนนลูกรังอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้ำแม่อุสุเป็นถ้ำที่กว้างใหญ่ มีเพดานถ้ำสูง
อากาศโปร่งและไม่มืดนัก มีลำห้วยแม่อุสุไหลผ่าน เมื่อจะเข้าถ้ำนี้จะต้องเดินลุยน้ำห้วยแม่อุสุเข้าไป
น้ำใสเย็นสูงเสมอเข่าและไหลแรง ถ้าในฤดูฝนระดับน้ำจะสูงมาก ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก
ทางด้านตะวันตกมีโพรงหินขนาดใหญ่ ในตอนบ่ายจะมีแสงแดดส่องเข้ามาเป็นลำทำให้ถ้ำดูสวยงามยิ่งขึ้น
ทางเดินในถ้ำไม่ลำบากนัก แม้ว่าจะต้องปีนขึ้นไปบนโขดหินก้อนใหญ่ๆ บ้างก็ตาม
ทางไม่ลื่นและยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไรก็ยิ่งสวยงามมากขึ้น หากมีเวลาจะปีนทะลุโพรงหินนั้นขึ้นไปอีกก็ยังได้
เมื่อเดินเข้าไปในถ้ำสักระยะหนึ่ง แล้วหันกลับมาดูทางเข้า จะเห็นภาพลำห้วยที่ไหลคดเคี้ยวออกจากถ้ำที่มืด
ไปสู่ปากถ้ำที่สว่างและมีแนวหลังเป็นทุ่งหญ้าสีเขียวสวยงามมาก
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านตาก
อำเภอบ้านตาก
เป็นเมืองตากเก่า มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านตะวันตกของสุโขทัย
จนในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาได้โปรดให้ย้ายเมืองตากลงมาตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง
ตรงข้ามกับตัวเมืองในปัจจุบัน สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านตากส่วนใหญ่จึงเป็นโบราณสถานอำเภอบ้านตาก
อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือราว 22 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข
1 และถ้าเดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1107 เลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตกถึงอำเภอบ้านตาก
ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร
วัดพระบรมธาตุ อยู่ที่ตำบลเกาะตะเภา อยู่ห่างจากตัวเมืองตากประมาณ
36 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1107 ประมาณ 35 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข
1175 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะแลเห็นวัดพระบรมธาตุอยู่ทางซ้ายมือ หรือถ้าใช้เส้นทางหลวงหมายเลข
1 ตรงกิโลเมตรที่ 442 เข้าอำเภอบ้านตากประมาณ 300 เมตร เลี้ยวขวาเข้าตลาดบ้านตากไปจนสุดถนนแล้วเลี้ยวซ้ายผ่านสะพานข้ามแม่ปิง
แล้วเลี้ยวขวาผ่านวัดท่านา เลี้ยวซ้ายผ่านวัดทุ่งยั้งไปจนสุดถนน เลี้ยวขวาไปสุดทางราดยางเข้าถนนลูกรังจนถึงสามแยก
แล้วแยกซ้ายอีก 200 เมตร ถึงวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ วัดพระบรมธาตุ
เป็นวัดเก่าแก่ ได้รับการปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งแล้ว ตัวอุโบสถมีประตูเป็นไม้แกะสลักสวยงาม
หน้าบันและจั่วเป็นไม้ หน้าต่างแกะเป็นพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค
วิหารของวัดซึ่งเป็นวิหารเก่ามีเพดานสูง 2 ชั้น มีช่องลมอยู่โดยรอบ ทำให้อากาศภายในเย็น
วิหารนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารไม้เก่าแก่ที่มีลายแกะสลักไว้ให้ชม
นับเป็นวัดที่มีคุณค่าในทางโบราณคดีมาก
เจดีย์ยุทธหัตถี หรือเจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงมหาราช
ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเจดีย์ชนช้าง ตั้งอยู่บนดอยช้าง ตำบลเกาะตะเภา
อำเภอบ้านตาก ดอยช้างเป็นเนินดินเล็กๆ อยู่ทางเหนือของดอยพระธาตุไปเล็กน้อย
เจดีย์นี้เป็นโบราณสถาน มีอายุอยู่ในสมัยกรุงสุโขทัยรวม 700 ปีเศษ องค์เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่เยื้องกับวัดพระบรมธาตุประมาณ
200 เมตร ลักษณะของเจดีย์ยุทธหัตถี เป็นศิลปะแบบสุโขทัยคล้ายกับองค์อื่นๆ
ทั่วไปในเมืองสุโขทัย ก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง 12 เมตร เป็นเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขึ้นไปสูง
16 เมตร เหนือเรือนธาตุทำเป็นลำสี่เหลี่ยมย่อมุมตลอดถึงยอดที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ยอดสุดมีฉัตร มีร่องรอยการซ่อมแซมตลอดมา แต่ไม่เสียทรงเดิม ฐานพุ่มมีลายปั้นเป็นรูปหน้าสิงห์สวยงาม
หน้าสิงห์ด้านทิศเหนือยังสมบูรณ์ ด้านอื่นๆ ชำรุดและมีรอยซ่อม องค์เจดีย์ส่วนใหญ่มีคราบตะไคร่น้ำจับอยู่ทั่วไป
จะมีการขุดแต่งหรือสถานที่ก็ต่อเมื่อใกล้วันจะมีงานเทศกาล ซึ่งเป็นงานเดียวกับงานไหว้พระธาตุบ้านตาก
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีในหนังสืออธิบายระยะทางล่องลำน้ำปิงว่า
... มีพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งบนดอยช้าง เหนือดอยพระธาตุเรียกว่าพระปรางค์
แต่ที่จริงเป็นพระเจดีย์แบบสุโขทัยเหมือนพระเจดีย์องค์กลางที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวเมืองศรีสัชนาลัย
และพระเจดีย์ที่วัดกระพังเงินในเมืองสุโขทัย พระเจดีย์รูปนี้ที่วัดพระธาตุเมืองกำแพงเพชรก็มีอีกองค์หนึ่ง
เข้าใจว่าเป็นฝีมือช่างครั้งกรุงสุโขทัยสร้างไว้ขนาดสูงตลอดยอดประมาณ
20 วา มีผู้ซ่อมแต่ซ่อมดีไม่แก้รูปเดิม ลายหน้าราหูยังปรากฏอยู่ พระเจดีย์องค์นี้สร้างบนยอดดอยที่ต่ำกว่าดอยที่สร้างพระธาตุ
ควรเข้าใจว่าสร้างทีหลังพระธาตุในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีเรื่องปรากฏว่า
เมื่อครั้งพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อันเป็นวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัยนั้น
ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด เข้ามาตีเมืองพ่อขุนศรีอินทราทิตย์แตกทัพ พ่อขุนรามคำแหงผู้ราชบุตรเข้าชนช้างกับขุนสามชนจนมีชัยชนะ
ข้าศึกแตกพ่ายไป น่าสันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้จะสร้างเป็นของเฉลิมพระเกียรติเรื่องชนช้างคราวนั้น
แต่พระเจ้ารามคำแหงจะสร้างเองหรือจะสร้างในรัชกาลหลังมา ไม่มีเค้าเงื่อนจะรู้ได้แน่
...
สถานที่น่าสนใน ในเขตอำเภอสามเงา
ผาสามเงา อยู่ในตำบลย่านรี
จากตัวจังหวัดใช้เส้นทางหมายเลข 1107 ผ่านทางแยกไปเจดีย์ยุทธหัตถีไปประมาณ
25 กิโลเมตร หรือถ้าใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 463 จะมีทางแยกซ้ายเข้าเขื่อนภูมิพลไปประมาณ
10 กิโลเมตร ถึงอำเภอสามเงา จะมองเห็นขุนเขาใหญ่ลูกหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า
ผาสามเงา เพราะที่เชิงเขาริมหน้าผานั้น เจาะเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อภูเขาเรียงกัน
3 ช่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองช่องละองค์ มีบันไดไม้ต่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปได้
ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระนางจามเทวีราชธิดาแห่งกรุงละโว้เป็นผู้สร้างเมื่อครั้งเดินทางตามลำน้ำแม่ปิงเพื่อขึ้นไปครองเมืองหรืภุญไชยหรือลำพูน
เขื่อนภูมิพล (เขื่อนยันฮี) แยกซ้ายจากทางหลวงหมายเลข 1 ตรงกิโลเมตรที่
463-464 ประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นทางราดยางเปิดให้ชมเขื่อนเวลา 07.00-17.00
น. เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย สร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่
และสูงที่สุดในประเทศไทยและเอเซียอาคเนย์ และเป็นอันดับ 8 ของโลก มีความสูงจากฐานถึงสันเขื่อน
154 เมตร กั้นแม่น้ำปิงที่เขาแก้ว อำเภอสามเงา สามารถอำนวยประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าถึง
560,000 กิโลวัตต์ และให้ผลประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง 1,500,000
ไร่ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ
300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าและชลประทานแล้ว
เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดด้วย
มีสถานที่น่าสนใจอื่นๆ อีกคือ
พระพุทธบาทดอยเขาหนาม เป็นเกาะกลางน้ำ มีวัดพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดดอย
ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทและศาลาประดิษฐานองค์พระประธาน ทิวทัศน์โดยรอบงดงาม
เกาะวาเลนไทน์ เป็นเกาะเล็กๆ มีหาดทราย สามารถเล่นน้ำได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวเกาะทั้งสองได้โดยเช่าเรือจากเขื่อนภูมิพลล่องไปตามลำน้ำประมาณ
15-30 นาที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดบริการบ้านพักและเกมกีฬาบางประเภท
เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว อาทิเช่น สนามกอล์ฟ
สนามเทนนิส เรือเช่า รายละเอียดดังกล่าวติดต่อได้ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โทร. 436-3272 (จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.) หรือที่เขื่อนภูมิพล
โทร. (055) 599093-7 ต่อ 3234 (จันทร์-เสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.)
บริษัทนำเที่ยวจัดบริการล่องเรือในทะเลสาบแม่ปิง
บริษัทท่องนที
จำกัด 13 ถ. รัชดาภิเษก ท่าพระ บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ โทร. 457-6873-4,
457-3428, 467-2557 โทรสาร 457-6875
บริษัทเอเดลไวซ์ ปริ้นเซส
302/47 ซ. ลาดพร้าว 71 บางกะปิ กรุงเทพฯ 10310 โทร. 931-2810-4
แพแม่ปิงทัวร์ (ทองอินทร์ทัวร์)
ติดต่อคุณนุสิทธิ์ โคกทอง 76/2 หมู่ 5 ต. สามเงา อ. สามเงา จ. ตาก
63160 โทร. 549310
แพแม่ปิงรีสอร์ท ติดต่อคุณสมมาตร
สุวรรณทิพเนตร 123 หมู่ 5 ต. บ้านนา อ. สามเงา จ. ตาก โทร. 599061, (01)
901-2831
โง้วเอียะเส็ง ถ.
ตากสิน โทร. 511324 จำหน่ายมะม่วงดอง กระเทียมดอง
โชคดีกิ๊ฟช้อพ ถ.
ตากสิน โทร. 514246 จำหน่ายเซรามิค
แม่ผง ถ.ตากสิน
โทร. 511751 จำหน่ายเครื่องหวายทุกชนิด
ลิ้มเซงฮั้ว ถ.
มหาดไทยบำรุง โทร. 511510 จำหน่ายมะม่วงดองน้ำผึ้ง
อรพรรณ ถ. มหาดไทยบำรุง
โทร. 511830 จำหน่ายกล้วยอบน้ำผี้ง - เขตอำเภอแม่สอด
กวางตุ้ง ศรีพานิช
โทร. 532030
เตียงมณี ถ. ประสาทวิถี
จำหน่ายอัญมณี
ใต้ดิน หมู่ 2 ถ.
สายเอเซีย โทร. 532910 จำหน่ายของเก่าเฟอร์นิเจอร์
เทวิน หมู่ 2 ถ.
สายเอเซีย โทร. 531343 จำหน่ายผ้า ถ้วยชาม รูปภาพ สินค้าพื้นเมือง
บังอรการค้า ถ.
สายเอเซีย ต. แม่สอด โทร. 532180 จำหน่ายอัญมณี สิทธิเจริญการค้า ถ.
สุขศรีราษฎร์อุทิศ โทร. 531853
สุ่ยจั้ว หมู่ 2
ถ. สายเอเซีย โทร. 531107 จำหน่ายอัญมณี สินค้าพื้นเมือง
รัตนภาพพลอย 1995
ถ. ศรีพานิช ต. แม่สอด โทร. 532954, 532386 จำหน่ายภาพประดิษฐ์จากพลอย
สำนักงานจังหวัดตาก 511546, 512092
ประชาสัมพันธ์จังหวัด
513584
สถานีตำรวจภูธร อ.
แม่สอด 531130, 531122, 191
สถานีตำรวจภูธร อ. อุ้มผาง
561011
สถานีขนส่ง จ. ตาก 511057
โรงพยาบาลแม่สอด 531224,
531229
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคเหนือเขต 4
193 ถ.ตากสิน ต.หนองหลวง อ.เมือง โทร. 4514341-3 โทรสาร 514344
(พื้นที่รับผิดชอบ : ตาก พิจิตร กำแพงเพชร)
|